>เรื่องเล่าพระเจ้าหลวงแห่งอาณาจักรล้านนา

      เมื่อเอ่ยถึงอาณาจักรล้านนา ย่อมรู้กันว่าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย ที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศพม่า  จีนและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  กลุ่มที่มีวัฒนธรรมล้านนากลุ่มนี้ ประกอบด้วยเมืองลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา เป็นพื้นที่ของชนที่เรียกว่า คนเมือ หรือยวน หรือไทยยวน ซึ่งหมายถึงชาวโยนก ทั้งนี้อาจรวมไปถึงเมืองแพร่ และเมืองน่านด้วยอีกสองเมือง ซึ่งมีวัฒนธรรมประเพณีคล้าย ๆ  กัน
        เดิมคนไทยแยกกันอยู่เป็นกลุ่ม ๆ  กระจัดกระจายอยู่ในแหลมอินโดจีน ชาวล้านนาที่มีชีวิตอยู่ในภาคเหนือของประเทศเหล่านี้ จะตั้งบ้านเรือนอยู่บนพื้นที่ราบระหว่าเขา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์
แผนที่อาณาจักรล้านนา

        ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์  ชาวล้านนาที่อยู่ทางภาคเหนือ  มีการสร้างบ้านแปงเมือง  โดยมีกษัตริย์ปกครองสืบราชวงศ์ต่อกันมา ที่ปรากฏหลักฐานชัดเจนคือ  อาณาจักน่านเจ้า  อยู่ในบริเวณแคว้นยูนนานของจีน อาณาจักรนี้ถูกจีนรุกราน จนแตกกระจัดกระจาย  เมื่อพุทธศักราช 1796  หลังจากนั้นจึงเริ่มมีอาณาจักรเชียงแสน ซึ่งเริ่มตั้งเมืองมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16  เริ่มขยายเป็นอาณาจักรขึ้นแทน
        ครั้งถึงพุทธศตวรรษที่ 18  คนไทยกลุ่มใหญ่ที่สุดก็รวมตัวกันตั้งบ้านเมือง แยกออกเป็น 3 อาณาจักรอย่างชัดเจน คือ อาณาจักรเชียง  ตั้งอยู่ทางภาคเหนือ  อาณาจักรสุโขทัย  ตั้งอยู่ในภาคกลางและภาคใต้  อาณาจักรล้านช้าง  คือที่ตั้งในดินแดนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง ปัจจุบันคือที่ตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และภาคอีสานของไทย
        ต่อมาจึงเกิดอาณาจักรล้านนาขึ้น โดยมีการตั้งอาณาจักรเป็น 3 ระยะ คือ
        ในพุทธศักราช 1839 – 1896  พญามังรายสร้างเอง รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ  ในแอ่งเชียงราย และขยายอำนาจลงสู่แองเชียงใหม่ ลำพูน  โดยรวบรวมเมืองสำคัญไว้หลายเมือง ได้แก่ เมืองเชียงราย  เชียงแสน  เชียงใหม่  ลำพูน  ลำปาง  พะเยา  โดยได้ส่งราชบุตรไปครองเมืองเชียงตุง  เมืองนาย  มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อมา 5 พระองค์ จนถึงสมัยพญาผายู  นั่นคือ  สมัยในยุคเริ่มสร้างอาณาจักร
        ต่อมาเป็นสมัยที่อาณาจักรล้านนามีความรุ่งเรือง ในพุทธศักราช 1896 – 2068  เริ่มตั้งแต่สมัยพญากือนา  จนถึงสมัยพญาแก้ว  เป็นระยะเวลา 170 ปี  ความเจริญสูงสุดอยู่ในสมัยของพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ. 1984 – 2030)  สมัยนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นยุคทองแห่งล้านนาไทย ได้ขยายอาณาเขตมาถึงเมืองแพร่  เมืองน่าน  แผ่นอิทธิพลไปถึงรัฐฉานและเมืองหลวงพระบาง  ด้านพระพุทธศาสนาก็มีความเจริญรุ่งเรือง มีการสังคายนาพระไตรปิฎก  เป็นครั้งที่ 8 ของโลก
        และยุคสุดท้ายคือสมัยที่อาณาจักรล้านนา  เริ่มเสื่อสลายลง ในพุทธศักราช  2068 – 2101  เริ่มตั้งแต่สมัยของพญาเกษเชษฐราช  จนตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า  เป็นเวลา  33  ปี  ครั้ง  พุทธศักราช 2101  สมัยท้าวแม่กุ  บุเรงนองยกกองทัพมายึดเมืองเชียงใหม่  จากนั้นล้านนาก็ตกอยู่ใต้อำนาจของพม่าถึง 200 ปีเศษ  จนถึง  พุทธศักราช 2317  สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี  เชียงใหม่จึงมาตกเป็นเมืองประเทศราชของไทย  ต่อมาหัวเมืองทางภาคเหนือก็แปรเป็นจังหวัดต่าง ๆ  ของราชอาณาจักรไทย  มีความเจริญก้าวหน้ามาตามลำดับจนถึงปัจจุบัน
ซากเวียงกุมกาม
        เพื่อให้ทราบรายละเอียดบางส่วนของผู้ก่อตั้งอาณาจักรล้านนา  คือ  พญามังราย  จึงขอนำเรื่องราวมาบอกกล่าวให้ทราบกันพอย่อ ๆ  ดังนี้
        พญามังรายเป็นโอรสของพญาลาวเมง  และนางอั้วมิ่งจอมเมือง (นางเทพคำข่าย หรือ คำขยาย)  ธิดาท้าวรุ่งแก่นชาวเมืองเชียงรุ้ง  พญามังรายครองเมืองเงินยาง  พุทธศักราช 1804  ต่อมาขยายอาณาเขต และยึดเมืองหริภุญชัย (เมืองลำพูน) ได้ราวพุทธศักราช 1535  ได้ทรงสร้างเวียงกุมกามขึ้น ในราวพุทธศักราช 1837  แต่พื้นที่ตั้งเมืองเป็นที่ลุ่ม น้ำท่วมจึงยกมาสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นในพุทธศักราช 1839  เชียงใหม่จึงเป็นศูนย์กลางแห่งอาณาจักรล้านนาต่อมา
        กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา  สามารถลำดับกษัตริย์ได้ดังต่อไปนี้
        พญามังราย                  ครองราชย์สมบัติ   พุทธศักราช  1804 – 1854
        พญาไชยสงคราม          ครองราชย์สมบัติ    พุทธศักราช  1854 – 1868
        พญาแสนพล               ครองราชย์สมบัติ    พุทธศักราช  1868 – 1877
        พญาคำฟู                    ครองราชย์สมบัติ    พุทธศักราช  1877 – 1879
        พญาผายู                    ครองราชย์สมบัติ    พุทธศักราช  1879 – 1896
        พญากือนา                  ครองราชย์สมบัติ    พุทธศักราช  1896 – 1928
        พญาแสนเมืองมา          ครองราชย์สมบัติ    พุทธศักราช  1928 – 1944     
        พญาสามฝั่งแกน           ครองราชย์สมบัติ    พุทธศักราช  1944 – 1964
        พระเจ้าติโลกราช          ครองราชย์สมบัติ    พุทธศักราช  1964 – 2030
        พญายอดเชียงราช        ครองราชย์สมบัติ    พุทธศักราช  2030 – 2038
        พญาแก้ว                    ครองราชย์สมบัติ    พุทธศักราช  2038 – 2068
        หลังจากสมัยพญาแก้วแล้ว  อาณาจักรล้านนาก็ตกอยู่ในอำนาจของพม่าเป็นเวลา 200 ปีเศษ  จนในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  จึงกลับมาตกเป็นประเทศราชของไทย  โดยมีเจ้าเมืองเชียงใหม่ในฐานะประเทศราชของไทยสืบต่อมาดังนี้
        พระเจ้ากาวิละ              ครองราชย์สมบัติ    พุทธศักราช  2325 – 2356
        พระยาธรรมลังกา          ครองราชย์สมบัติ    พุทธศักราช  2356 – 2364
        พระยาคำพั่น                ครองราชย์สมบัติ    พุทธศักราช  2364 – 2368
        พระยาพุทธวงศ์            ครองราชย์สมบัติ    พุทธศักราช  2368 – 2389
        พระเจ้ามโหตรประเทศ   ครองราชย์สมบัติ    พุทธศักราช  2389 – 2397
        พระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ ครองราชย์สมบัติ    พุทธศักราช  2397 – 2413
        พระเจ้าอินทวิชยานนท์   ครองราชย์สมบัติ    พุทธศักราช  2413 – 2439
        พระเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ ครองราชย์สมบัติ พุทธศักราช  2439 – 2452
        พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ        ครองราชย์สมบัติ    พุทธศักราช  2452 – 2482
พญามังราย ผู้สร้างอาณาจักรล้านนา
        อาณาจักรล้านนานั้น แบ่งการปกครองออกเป็น 3 ส่วนดังนี้
        บริเวณเมืองราชธานี  ได้แก่  เมืองเชียงใหม่  ลำพูน  อำนาจสิทธิ์ขาดเป็นของพระมหากษัตริย์  เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจ
        เมืองที่ปกครองโดยข้าหลวง  หรือเจ้านายเชื้อพระวงศ์  ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับเมืองหลวงอย่างใกล้  แต่เจ้าเมืองก็มีสิทธิ์และเป็นอิสระในการจัดการปกครองบ้านเมือง
         เมืองประเทศราช  เป็นเมืองที่อยู่ห่างไกล เจ้าเมืองยอมรับความด้อยกว่า  โดยส่งบรรณาการมาให้เมืองใหญ่แสดงความผูกพันซึ่งกันและกัน
        ส่วนการปกครองบังคับบัญชา  แบ่งยศชั้นเป็น “พันนา”  ซึ่งหมายถึง การแบ่งผืนดินเป็นเมืองต่าง ๆ  เช่น  เชียงราย  32  พันนา  พะเยา  36  พันนา  ฝาง  5  พันนา  ผู้ครองพันนามียศเป็นหมื่นนา  ล้านนา  พันนา  และแสนนา  ส่วนพื้นที่ปกครองเล็กกว่าคือ  “ปากนา”  ปากนาหนึ่งมีคน  500  หลังคาหลังคาเรือน  การควบคุมแบบพันนานี้  จะควบคุมใน  2  ลักษณะ  คือควบคุมให้มีการส่งส่วยแก่เมืองที่สังกัดและควบคุมการเกณฑ์แรงงาน  “เมืองำ” จะเกณฑ์ได้ทั้งในยามปกติและในยามสงคราม  ดังนั้นการควบคุม  จึงหมายถึงให้ผู้มีตำแหน่งดูแลควบคุมไพร่ด้วย
        ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า  เมืองเชียงใหม่ได้เคยตกเป็นประเทศราชของพม่า  แล้วเปลี่ยนมาอยู่ใต้ปกครองเป็นประเทศราชราชของไทยมาจนปัจจุบัน  ตำแหน่งผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่ได้ปรับเปลี่ยนเป็นแบบ  “เจ้าหลวง”  ซึ่งจะนำเรื่องราวของเจ้าหลวงบางองค์  มาให้ทราบประกอบบทความนี้ให้สมบูรณ์ดังนี้
เมืองเชียงใหม่ เมืองหลวงของอาณาจักรล้านนา
        คำว่า “เจ้าหลวง”  ในสมัยกรุงธนบุรี  เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์  ใช้เรียกผู้นำสูงสุดในเมืองใหญ่  ที่มีลักษณะเป็นเมืองเอก  เช่น  เมืองเชียงใหม่  เมืองลำพูน  เมืองแพร่  เมืองน่าน
        เจ้าหลวงยังถือว่าเป็นประมุขของเจ้านายทั้งหลาย และมีฐานะเป็นเจ้าชีวิตของประชาชน  ความเป็นจริงเจ้าหลวง ในความรู้สึกของชาวเชียงใหม่  เป็นเสมือนกษัตริย์องค์หนึ่ง  ที่ปกครองแผ่นดินยามสงคราม  เจ้าหลวง คือ จอมทัพรับศึก  เมื่อบ้านเมืองสงบ  เจ้าหลวงคือผู้บริหารราชการ  งานศิลปวัฒนธรรม  และการทำนุบำรุงศาสนา (เน้นพระพุทธศาสนา)  งานประเพณีและพิธีกรรมประจำเมือง
        หลังจากเมืองเชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าถึง 216 ปี จนถึงยุคของ “เจ้าเจ็ดตน”  ที่มีพระเจ้ากาวิละ เป็นเจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 1  การดำรงสถานภาพเป็นเจ้าประเทศราช หรือเจ้าผู้ครองนคร  ดูเหมือนจะถูกเหยียด  โดยนัยเป็นความรู้สึกที่ลึกอยู่ในใจของชาวล้านนาทั้งมวล  เพราะการเป็นเจ้าหลวงเชียงใหม่ในยุคเจ้าเจ็ดตน จะต้องได้รับการแต่งตั้งจากอำนาจที่เหนือกว่า  คือจากราชสำนักกรุงธนบุรี หรือกรุงรัตนโกสินทร์
        การสถาปนาเป็นเจ้าหลวงเชียงใหม่  ต้องผ่านพิธีโบราณตามราชประเพณี มีพิธีราชาภิเษกถือน้ำพิพัฒน์สัตยา  มีอาวุธ  มีดดาบสรีกัญชัย หรือพระแสงขรรค์ชัยศรี  ซึ่งเป็นอาวุธที่แสดงถึงราชอำนาจโดยประเพณี

คุ้มเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเชียงใหม่

        นครรัฐเชียงใหม่ในฐานะประเทศราช  วางตัวเจ้าหลวงเป็นผู้ปกครองเมือง  เพื่อเป็นด่านป้องกันพระราชอาณาจักร  ต้องการให้เจ้าหลวงเชียงใหม่ขยายพระราชอาณาเขตให้กว้างขวางขึ้น  พันธะที่คล้ายกับข้อผูกมัด  ระหว่างนครเชียงใหม่กับกรุงเทพฯ  ซึ่งเป็นไปในลักษณะถนอมเกียรติซึ่งกันและกันในรูปแบบของสหายร่วมศึก  หรือมิตรร่วมรบ
        เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองการปกครองเปลี่ยนไป  จากที่เคยคุกรุ่นเรื่องการรบ  พอบ้านเมืองเข้าสูภาวะสงบ  ราชสำนักกรุงเทพฯ  พยายามที่จะให้หัวเมืองเอกอย่างเมืองเชียงใหม่  ให้เข้าสู่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  ภายใต้อำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  พฤติกรรมในการปฏิบัติจึงกลายเป็นความปวดร้าวของชาวล้านนา  จนกระทั่งมีการปฏิรูปการปกครองเข้าสู่ระบบการประนีประนอมระหว่างเมืองเชียงใหม่กับกรุงเทพฯ  ก็ยังอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์สัมพันธภาพอันดีต่อกันมาโดยตลอด  แม้ว่าสภาพของประเทศราชได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วโดยสิ้นเชิง
        นครรัฐเชียงใหม่ในอดีตที่เคยเป็นประเทศประเทศหนึ่ง  ก็กลายเป็นเพียงจังหวัดหนึ่งของราชอาณาจักรไทย  และเจ้าหลวงเชียงใหม่ก็กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของเมืองเท่านั้น
        เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์สุดท้าย คือ พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ  ซึ่งถือเป็นเจ้าหลวงองค์ที่ 9 (พ.ศ. 2452 – 2482)  เจ้าแก้วนวรัฐ  เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่  ลำดับที่ 2  หรือเป็นเจ้าหลวงเชียงใหม่องค์สุดท้าย  เป็ฯโอรสลำดับที่ 3  ของพระเจ้าอินทวิชยานนท์  เจ้าผู้ครองเชียงใหม่องค์ที่ 7 กับแม่เจ้าเขียว  เริ่มรับราชการเมื่ออายุได้ 15 ปี  และเจริญก้าวหน้าทางราชการเรื่อยมา  นามของท่านได้รับการจารึกเพื่อเป็นเกียรติหลายแห่ง  เช่น  สะพานนวรัฐ  สโมสรนวรัฐ  ถนนแก้วนวรัฐ  วัดศรีนวรัฐ  โรงเรียนศรีนวรัฐ  ฯลฯ

สะพานนวรัฐที่ตั้งชื่อตามพระนามของเจ้าแก้วนวรัฐ
เพื่อเชิดชูเกียรติเจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเชียงใหม่
         พุทธศักราช  2454  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานฐานันดรศักดิ์ให้เจ้าแก้วนวรัฐ  เป็นเจ้าผู้ครองนคร  พระบาทสมเด็จพระมุงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลแก่พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ และทายาทในสายสกุลของเจ้าเจ็ดตนว่า “ณ เชียงใหม่”
        พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ  ถึงแก่อสัญกรรมในปีพุทธศักราช  2482  รวมชนมายุได้ 77 ปี ในฐานะเจ้าหลวงเชียงใหม่  เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย  เมื่อท่านถึงแก่อสัญกรรมแล้ว  ทางราชการก็ยุบเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนคร  ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดการมี “เจ้าหลวงเชียงใหม่”
        นับตั้งแต่การเริ่มต้น “เจ้าหลวงเชียงใหม่”  ตังแต่สมัยพระเจ้ากาวิละ  จนมาถึงสมัยพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ รวมเวลทั้งหมด 157 ปี
        แม้จะไม่มี “เจ้าหลวง”  โดยประเพณีแล้วก็ตาม  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อลูกหลานของเจ้าหลวงในสกุลของเจ้าเจ็ดตน หรือ “ณ เชียงใหม่” เสมอมา