>เรื่องเล่าสามล้อไทย

รถลาก หรือ รถเจ๊กในสมัยรัชกาลที่ 5
          ในบรรดายานพาหนะต่าง ๆ  ที่วิ่งอยู่ตามถนนหนทางทั่วไปนั้น  เชื่อว่ารถชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากที่สุด  เห็นจะได้แก่รถสามล้อ  ที่ใช้แรงคนถีบ  ไม่ใช้เครื่องยนต์  รถสามล้อนี้กล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า  รถสามล้อไทย  เพราะคนไทยเป็นต้นคิดประดิษฐ์ขึ้นเป็นครั้งแรก
          ก่อนจะเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของรถสามล้อไทย  เห็นจะต้องกล่าวถึงเรื่องราวของยานพาหนะชนิดต่าง ๆ  ที่มีในบางกอก  ก่อนรถสามล้อสักเล็กน้อย  ทั้งนี้หมายถึงรถที่ใช้โดยสารรับส่งผู้คนในกรุงเทพฯ สมัยก่อน  รถที่ชาวบางกอกรู้จักกันดีในสมัยแรกก็คือ  รถลาก  ซึ่งนิยมเรียกกันว่า  รถเจ๊ก  เพราะกุลีชาวจีนเป็นคนลาก  รับจ้างชาวกรุงเทพฯ ทั่วไป
          ตามประวัติรถลากนี้เล่ากันว่า รถลากคันแรกนั้นมีขึ้นในประเทศญี่ปุ่น เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2376  ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5  รถลากจึงได้แพร่เข้ามาถึงกรุงเทพฯ  เป็นครั้งแรก  เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2440  โดยแรกทีเดียว  พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (พุก)  เป็นผู้นำรถลากมาจากเมืองซัวเถา  ในจีนแผ่นดินใหญ่  โดยนำขึ้นทูลเกล้าถวาย  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  คันหนึ่ง  ต่อมารถลากก็เป็นที่นิยมของบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์  แพร่หลายถึงบรรดาขุนนางและประชาชนชาวบางกอกในที่สุด
          หลังจากรถลากแล้ว  รถสามล้อ  จึงเกิดขึ้นแทนที่  เรื่องของรถสามล้อไทยนั้น  เป็นวิวัฒนาการมาจาก  รถจักรยานสองล้อ นั่นเอง  แรกทีเดียวมีรถสองล้อเข้ามาในกรุงเทพฯ ประมาณ ปี พ.ศ. 2427 – 2430  โดยรถจักรยานสองล้อที่แรกมีในบางกอกนั้น  เป็นรถจักรยานสองล้อประเภทที่ล้อหน้าสูง และล้อหลังเล็ก  แบบรถจักรยานที่พวกละครสัตว์ใช้กัน  ครั้นต่อมารถจักรยานสองล้อ   จึงได้เปลี่ยนรูปมาเป็นมีสองล้อเท่านั้น  เหมือนจักรยานสองล้อในปัจจุบัน
          รถจักรยานสองล้อ  เมื่อแรกมีในบางกอกนั้น ปรากฏว่าเป็นที่นิยมกันมาก  โดยเฉพาะรถจักรยานสองล้อ ซึ่งมีล้อหน้าและล้อหลังเท่ากัน  แม้แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ก็โปรดมาก  ดังเช่นบันทึกของเจ้าพระยามหิธร  ตอนหนึ่งว่า
          “สมัยหนึ่ง ราว ร.ศ. 117 – 118  ในกรุงเทพฯ เล่นรถจักรยานกันมาก  จนถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง  และเจ้าพระยาภาษกรวงศ์  ซึ่งเป็นคนอ้วนใหญ่  ก็ยังถีบรถจักรยาน  การเป็นดังนี้  จะไม่สนุกใหญ่อย่างไร  เวลานั้นใครเจ็บไข้ไปหาหมอ  หมอมักแนะนำให้ถีบจักรยาน  เหมือนสมัยเล่นกอล์ฟ  หมอก็แนะนำให้ไปตีกอล์ฟ...”
          เมื่อรถสองล้อ  แพร่หลายไปทั่วกรุงเทพฯ และหัวเมืองต่าง ๆ  แล้ว  ต่อมาก็มีผู้คิดประดิษฐ์ดัดแปลงรถจักยานสองล้อ  เป็นรถจักยานสามล้อ  เพื่อประโยชน์ในการใช้สอยได้มากขึ้น  ทั้งทางด้านการโดยสารและบรรทุกสิ่งของ  ผู้เป็นต้นคิดประดิษฐ์สามล้อไทยขึ้น ก็คือ  นายเลื่อน  พงษ์โสภณ
          ตลอดระยะเวลาที่รถสองล้อแพร่หลายอยู่ทั่วไปนั้น  นักประดิษฐ์หนุ่มผู้นี้  เฝ้ามองดูที่จะหาทางเพิ่มเติมล้อลงไปอีกล้อหนึ่ง  แล้วทำกระบะสำหรับนั่งหรือบรรทุกสิ่งของเพิ่มขึ้น  ในที่สุด  นายเลื่อน  พงษ์โสภณ  ก็ประดิษฐ์สามล้อไทยคันแรกขึ้นสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2476 นี่เอง
รถสามล้อในยุคแรกของนายเลื่อน  พงษ์โสภณ
          รถสามล้อที่นายเลื่อนคิดทำขึ้นครั้งแรกนั้น  ไม่ได้มีลักษณะเหมือนรถสามล้อในทุกวันนี้ ซึ่งมีล้อหลังสองล้อ และล้อหน้าอยู่ตรงกลางอีกหนึ่งล้อ แต่ทว่าใช้รถจักรยานสองล้อนี่แหละ ไปเพิ่มล้อทางด้านขวาอีกหนึ่งล้อ ขนานกับล้อหลัง  แล้วใส่กระบะสำหรับนั่งหรือโดยสารเข้าไปทางด้านซ้าย   ด้วยลักษณะนี้ รถสามล้อคันแรกจึงเหมือนกับรถสามล้อพ่วงข้าง ที่ยังมีใช้อยู่ทางภาคใต้ของเราในทุกวันนี้นั่นเอง (เช่นที่จังหวัดสงขลา)
          สามล้อไทยคันแรกเมื่อปี พ.ศ. 2476  นับว่าเป็นของใหม่เอี่ยมของกรุงเทพฯ ตามปรกตินั้น เมื่อทำขึ้นมาแล้ว ก่อนที่จะออกวิ่งรับส่งผู้โดยสารหรือขนส่งสิ่งของ  ก็ย่อมจะต้องนำไปขอจดทะเบียนกับตำรวจเสียก่อน  แต่ก็ปรากฏว่า รถสามล้อเป็นของใหม่  ไม่เคยมีมาก่อนจึงยงไม่มีพระราชบัญญัติเกี่ยวกับรถสามล้อ  กว่าจะจดทะเบียนได้ก็วุ่นวายกันน่าดูทีเดียว  จนในที่สุด เจ้าหน้าที่อนุโลมให้ใช้พระราชบัญญัติล้อเลื่อน ปี พ.ศ. 2460  จึงสามารถจดทะเบียนรถสามล้อไทยได้
          ครั้นต่อมา  เมื่อรถสามล้อได้รับความนิยมแพร่หลายนั้น  ก็ปรากฏว่าทางราชการต้องออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับสามล้อ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม  พ.ศ. 2479 ซึ่งออกตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติล้อเลื่อน ปี พ.ศ. 2478 รายละเอียดในกฎกระทรวงเกี่ยวกับสามล้อนี้ มีอยู่ 7 ข้อด้วยกันคือ
1.     มีที่นั่งสำหรับผู้ขับขี่นั่งอยู่ตอนหน้าผู้โดยสารนั่งอยู่ตอนหลัง
2.    ตัวรถสำหรับผู้โดยสารนั่งมีรูปเป็นตัวถัง
3.    มีประทุนกันฝนและแดดสำหรับผู้โดยสาร
4.    ระยะห่างระหว่างล้อหลัง ไม่น้อยกว่า 1 เมตร และไม่เกิน 1.10 เมตร
5.    น้ำหนักรถไม่เกิน 80 กิโลกรัม
6.    มีโคมไฟไม่น้อยกว่าข้างละ 1 ดวง โดยใช้กระจกสีขาวด้านหน้า สีแดงด้านหลัง ติดไว้ให้เห็นส่วนกว้างของตัวถังรถ  โดยให้เห็นแสงไฟทั้งจากข้างหน้าและข้างหลัง
7.    มีห้ามล้อที่ใช้การได้ดีไม่น้อยกว่า 2 อัน
ที่กล่าวมาข้างต้น ก็คือลักษณะของรถสามล้อ ตามที่กฎกระทรวงบังคับไว้แน่ชัด  นอกจากนี้แล้ว  ในกฎกระทรวงฉบับเดียวกัน  ยังกล่าวถึงการใช้รถสามล้อเป็นพาหนะในการขนส่งผู้โดยสารไว้ชัดแจ้งว่า
สามล้อที่เรียกว่า ซาเล้ง
“จะรับบรรทุกผู้โดยสารอายุเกิน 10 ขวบได้ 2 คน  กับเด็กอายุไม่เกิน 10 ขวบ ด้วยหนึ่งคน  เป็นอย่างมาก  กับห้ามใช้บรรทุกของ  เว้นแต่ว่าเป็นของที่มีติดตัวไปกับผู้โดยสาร แต่ก็ต้องไม่เกิน 30 กิโลกรัม
เคยเห็นภาพเก่า ๆ  ของรถสามล้อรุ่นแรก ที่นายเลื่อน  พงษ์โสภณ  ประดิษฐ์ขึ้นใช้วิ่งรับส่งผู้โดยสารในกรุงเทพฯ  ปรากฏว่ารถสามล้อรุ่นแรก ไม่มีประทุนกันแดดกันฝน  ผู้โดยสารที่ขึ้นไปนั่ง  จะต้องกางร่วมกันแดดหรือกันฝนกันเอง  ก็เหมือนกับรถสามล้อพ่วงข้างปักษ์ใต้ในทุกวันนี้นั้นแหละ  ต่อมานายเลื่อน  พงษ์โสภณ  ก็ได้พยายามดัดแปลงรูปร่างลักษณะของรถสามล้อไทย  จนกระทั่งรถสามล้อไทย มีลักษณะสวยงามเหมือนรถสามล้อในปัจจุบัน
เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ สำหรับนายเลื่อน  พงษ์โสภณ และคนไทยทั่วไป  ที่รถสามล้อไทยแพร่หลายไปทั่วประเทศเพื่อนบ้านแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มลายู ปีนัง สิงคโปร์ เขมร  ด้วยสามล้อเป็นพาหนะที่ไปไหนมาไหนได้สะดวกยิ่งนัก      รถสามล้อที่แพร่หลายไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านต่าง ๆ  เหล่านี้  ก็มีรูปร่างลักษณะแปลกกันออกไป  อย่างเช่นรถสามล้อเมืองเขมร ที่เรียกว่า ละเมาะ นั้น ก็ใช้รถสองล้อธรรมนี่แหละ เกี่ยวกับกระบะใหญ่ทางด้านหลัง นั่งกันทีหนึ่งหลายคนบรรทุกของก็ได้มาก  ส่วนรถสามล้อปีนังนั้น แทนที่จะเอาคนขี่ไว้ข้างหน้า ก็กลับให้โดยสารนั่งหน้า แล้วคนขี่อยู่ด้านหลัง  เวลานั่ง รถสามล้อปีนัง  จึงน่าหวาดเสียวมาก  เพราะถ้าหากว่าเกิดไปชนกับรถยนต์เข้า  ผู้โดยสารนั่นแหละมีหวังตายก่อน  คนขี่อาจจะกระโดดหนีเสียทัน  ซึ่งผิดกับรถสามล้อในบ้านเรา ที่คนขี่อยู่ด้านหน้า ชนอะไรเข้า คนขี่เป็นถูกก่อนแน่นอน
รถสามล้อแบบที่ไม่เปลี่ยนไปจากของเดิมมากนัก ก็เห็นจะเป็นรถสามล้อพ่วงข้างที่ใช้กันอยู่ในภาคใต้ ที่หัวหินนี่ก็มีแล้วพอเลยไปถึงชุมพร  สงขลา  ภูเก็ตยิ่งมีมากทั่วไป  และรู้สึกว่าชาวภาคใต้ จะนิยมนั่งรถสามล้อพ่วงข้างมากกว่ารถสามล้อธรรมดา  เพราะความเคยชิน  และอีกประการหนึ่งอาจจะรู้สึกสบาย ด้วยไม่ต้องถูกคนขี่บังหน้าอยู่ตลอดเวลา  ก็อาจจะเป็นได้  สามล้อในภาคใต้ทั่วไป จึงเป็นสามล้อพ่วงข้างเกือบหมด  มีสามล้อแบบภาคอื่น ๆ  อยู่บ้าง  ก็ทำมาหากินสู้สามล้อพ่วงข้างไม่ได้
สามล้อยุคปัจจุบัน ที่หาดูได้ที่จังหวัดนนทบุรีและอื่น ๆ
ในสมัยนี้เราจะเห็นรถยนต์ว่า มีอยู่สองประเภท  คือรถส่วนบุคคลกับรถแท็กซี่  สมัยก่อนรถสามล้อส่วนบุคคลก็มีเหมือนกัน  คือในบรรดาบ้านผู้ดีมีอันจะกินนั้น เขามักจะซื้อสามล้อไว้รับส่งลูกหลานไปโรงเรียนหรือไปจ่ายตลาด ไปทำงานก็ตามแต่ โดยจ้างคนขี่สามล้อประจำเหมือนคนกรุงเทพฯ จ้างคนขับรถยนต์นั่นเอง
กรุงเทพฯ สมัยก่อน เต็มไปด้วยสามล้อนับพัน ๆ  คัน  เต็มถนนหนทางไปหมด  ผู้ขี่รถสามล้อส่วนมากมักจะเป็นชาวอีสาน ซึ่งเต็มไปด้วยความขยันและอดทน  เมื่ออพยพเข้ามาทำมาหากินในกรุงเทพฯ ก็มักจะยึดอาชีพขับขี่รถสามล้อเป็นอย่างแรก  ด้วยไม่ต้องใช้สติปัญญาอะไรมากมาย  ขอให้มีแต่ความอดทนและเข้มแข็งเป็นพอ  ปรากฏว่าอาชีพขี่สามล้อเป็นอาชีพที่ทำรายได้ให้อย่างมั่นคง  จนกระทั่งสามารถเก็บเงินเก็บทองสะสมไว้ส่งไปให้ญาติพี่น้องเป็นจำนวนมากทุกเดือน  ต่อมาเมื่อหลายสิบก่อน  ทางราชการจึงได้สั่งเล็กสามล้อ  มิให้วิ่งในถนนกรุงเทพฯ ต่อไป เพราะการจราจรคับคั่งเกินไป  สามล้อคนขี่ จึงหายหน้าหายตาไปจากกรุงเทพฯ  นับแต่นั้นมา  แต่ถ้าหากท่านอยากนั่งรถสามล้อก็ไม่ยากเลย เว้นกรุงเทพมหานครเท่านั้น  ก็หารถสามล้อนั่งได้ที่จังหวัดนนทบุรี  ปากน้ำ หรือจังหวัดอื่น ๆ  ทั่วประเทศ
เดี๋ยวนี้กรุงเทพฯ พบปัญหาใหม่ เกี่ยวกับสามล้อเครื่องญี่ปุ่นและรถเมล์เล็ก  ซึ่งทำความคับคั่งทางการจราจรให้ไม่ผิดกับสามล้อคนขี่ในสมัยก่อน  จนกระทั่งทางกากำลังพิจารณาที่จะเลิกสามล้อเครื่องญี่ปุ่นกัน  อีกอย่างหนึ่งแล้ว ถ้าเลิกเมื่อไรสามล้อคนขี่ตามต่างจังหวัดก็คงจะหากินฝืดเคืองยิ่งขึ้น  เพราะทุกวันนี้ก็ถูกสามล้อเครื่องญี่ปุ่นแย่งผู้โดยสารจนแย่ไปตาม ๆ  กันแล้ว น่าวิตกว่า  ในอนาคต สามล้อไทยหรือสามล้อแรงคนจะหมดไปจากบ้านเมืองเราไม่วันใดก็วันหนึ่งอย่างแน่นอนฯ
สามล้อที่ใช้ในภาคใต้ของไทยในปัจจุบัน