>เรื่องเล่าฮีตสิบสองของชาวอีสาน


          บนผืนแผ่นดินที่ราบสูงของประเทศไทย หรือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่นิยมเรียกกันสั้น ๆ  ว่า  อีสาน  นั้น  เป็นดินแดนอันเก่าแก่ยิ่ง  ที่วัฒนธรรมและอารยธรรมของไทยได้ฝังรกรากไว้แต่ดังเดิม
ทฤษฎีการตั้งถิ่นฐานของไทย 5 ทฤษฎี
          ตามประวัติศาสตร์ชาติไทยนั้น  เราย่อมทราบกันดีอยู่ว่า  เมื่อชนชาติไทยอพยพถอยร่นลงมาจากดินแดนตอนใต้ของประเทศจีนนั้น (ตามความเห็นของผู้จัดทำ  คนไทยจะอพยพขึ้นลงอยู่บริเวณนี้เป็นประจำ  เนื่องจากในอดีตไม่มีเขตแดน ไม่มีประเทศ  มีแต่กลุ่มคนเร่ร่อนไปเรื่อย ๆ  ยังไม่มีการยึดครองพื้นที่กัน  เมื่อเกิดภัยแล้งจึงอพยพขึ้นไปทางเหนือบริเวณประเทศจีนและมองโกเลีย  เมื่อเกิดภัยหนาวจึงอพยพลงมาเป็นอย่างนี้ จนกระทั่งมีการตั้งรกรากยึดครองพื้นที่สร้างบ้านสร้างเมืองกัน  จึงมีความเห็นหลายสายว่า  คนไทยมีทั้งอพยพมาจากดินแดนตอนใต้ของจีนบ้าง  อยู่บริเวณนี้บ้าง  ความเห็นของผู้จัดทำ  จึงเชื่อว่าถูกทั้งสองทฤษฎี)  ชาวไทยได้มุ่งหน้ามาสู่ดินแดนที่เป็นประเทศไทยเดี๋ยวนี้  โดยเริ่มเข้าสู่แผ่นดินแหลมทองทางเหนือและทางอีสานของประเทศ  เริ่มต้นตั้งแต่เชียงแสน  เชียงรายเรื่อยมา
          ส่วนชาวไทยที่เดินทางเลียบฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง  มาทางสิบสองปันนา  แล้วเรื่อยลงมาในดินแดนล้านช้างปัจจุบัน (คือบริเวณกรุงเวียงจันทน์ของลาว) ก็ได้ข้ามมาสู่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง  สร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นบนพื้นที่ราบสูงของอีสาน
          สายวัฒนธรรมเก่าแก่ของชาวไทย  จึงฝังรกรากอยู่ในภาคเหนือและภาคอีสานมากมายทีเดียว  เราจะเห็นได้ว่า ประเพณีเก่า ๆ  หลายอย่าง ที่ชาวภาคกลางลืมเลือนกันไปเป็นส่วนใหญ่แล้วนั้น (มัวแต่ไปลุ่มหลงวัฒนธรรมของฝรั่งชาติตะวันตก  เช่น  วาเลนไทน์  ฮาโลวีน  คริสต์มาส  ฯลฯ) แต่ชาวภาคเหนือและชาวอีสาน  ยังคงรักษาอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน  (รวมทั้งประเทศลาวด้วย) เช่น  พิธีบายศรีสู่ขวัญ  พิธีเซิ้งบั้งไฟขอฝนจากพญาแถน  เป็นต้น
          ซึ่งพิธีเหล่านี้แทบจะไม่ได้เห็นจากชาวภาคกลางของไทย
          ในภาคอีสาน มีประเพณีในรอบปี  แบ่งออกเป็นประเพณีในเดือนต่าง ๆ  นับแต่เดือนอ้าย  เดือนยี่  เดือนสาม  เดือนสี่ ฯลฯ เรื่อยไป  ซึ่งประเพณีในรอบปีของชาวอีสานดังกล่าว   มีชื่อเรียกว่า  ฮีตสิบสอง
บุญเข้ากรรม เือนอ้าย
          คำว่า  ฮีต  ซึ่งฟังแปลกหูนี้  กร่อนมากจากคำว่า จารีต (ตามรากศัพท์เดิมคือภาษาบาลี หมายถึง  สิ่งที่ทำเป็นประจำ  สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติกันเป็นประจำ)  คือตัดเฉพาะคำว่า รีต  สำเนียงทางอีสาน  ตัว    เรือ  จะออกเสียงเป็น  ตัว   นกฮูก  เช่น  รู  จะเป็น  ฮู    รัก  จะเป็น   ฮัก (หรือมัก)  เรา  เป็น  เฮา  ฯลฯ  ดังนั้น  รีต  จึงเป็น  ฮีต  ส่วนคำว่า  สิบสอง  นั้น  หมายถึงเดือนทั้ง 12 ในรอบปีนั่นเอง  ดังนั้น  ฮีตสิบสอง  จึงหมายถึง  ประเพณีที่ทำกันเป็นประจำในรอบปี หรือ 12 เดือนนั่นเอง
          เรื่องราวของประเพณีในรอบปีนี้  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 4  ได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือไว้เรื่องหนึ่ง  คือเรื่อง  พระราชพิธีสิบสองเดือน  ซึ่งกล่าวถึงพระราชพิธีหลวง ที่กระทำกันสืบมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย  กรุงศรีอยุธยา  จนกระทั่งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น  แต่พระราชพิธีสิบสองเดือนนั้น  เป็นพระราชพิธีหลวง  ส่วนฮีตสิบสองของภาคอีสานนั้น  เป็นประเพณีที่ชาวบ้านนิยมปฏิบัติกันสืบมาในทุกท้องถิ่น  จนกระทั่งกลายเป็นประเพณีในรอบปีของชาวอีสานทั้งหมด
บุญคูนลาน เดือนยี่
          ฮีตสิบสองของอีสาน  จึงนับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ชาวไทยในภาคกลาง  พากันหลง ๆ  ลืม ๆ  ประเพณีไทยเก่า ๆ  ไปเสียมากต่อมากนั้น  เพราะมัวแต่ลุ่มหลงในวัฒนธรรมของชาติตะวันตก  น่าจะได้มาทบทวนกันดูเสียทีว่า  ฮีตสิบสอง หรือ ประเพณีไทยในรอบ 12 เดือนของชาวอีสานที่ยังยืดถือปฏิบัติกันอยู่ในทุกวันนี้นั้น  มีอะไรบ้าง ?
          เดือนแรกของปี  ตามการนับแบบจันทรคติ อันเป็นประเพณีนับเดือนของไทยเรา  คือเดือนอ้าย ซึ่งชาวอีสานเรียกกันว่า  เดือนเจียง  หรือ เดือน 1  แบบไทยนั่นแหละ  ซึ่งตกประมาณเดือนพฤศจิกายน หรือ ธันวาคม (จะเร็วกว่าแบบที่สมมติกันว่าเป็นสากลตามแบบฝรั่งที่เอาเดือน มกราคม เป็นเดือนแรกอยู่ 1 – 2  เดือน)  ทุกปีจะมีคลาดเคลื่อนไปบ้าง  ก็ปีที่มีเดือน 8 สองหนเท่านั้น  ชาวอีสานมีประเพณีประจำเดือนเจียง  เรียกว่า  บุญเข้ากรรม  ประเพณีสืบเนื่องมาจากคติที่ว่า  พระภิกษุสงฆ์ที่ต้องอาบัติ  และทำพิธีปลงกับเพื่อนพระภิกษุด้วยกันเองไม่ได้  จะต้องมาทำบุญเข้ากรรม  เพื่อให้พ้นจากอาบัติเป็นเวลา  6  วัน (คืออาบัติสังฆาทิเสส) รวมกับจำนวนวันที่ต้องอาบัติด้วย  ในระหว่างที่พระสงฆ์กำลังทำพิธีเข้ากรรรมอยู่นี้เอง  ชาวบ้านที่มีศรัทธา ก็นำข้าวปลาอาหารมาถวายพระ  ถือเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง  เรียกว่า  บุญเข้ากรรม  นั่นเอง
บุญข้าวจี่ เดือน 3
          เดือนยี่  หรือ  เดือนสองของไทย (ยี่ = สอง)  ซึ่งตกราวเดือนธันวาคมหรือมกราคมของปีเป็นระยะเวลาเก็บเกี่ยวข้าว  ชาวอีสานนั้นเป็นคนไทยผู้มีจิตใจกุศลยิ่งนัก  รู้บุญคุณของข้าวและนา  เมื่อทำการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว  จะมีการทำบุญในรอบเดือนยี่  ซึ่งเรียกกันว่า  ทำบุญคูนลาน  (บุญคูน = บุญคุณ) การทำบุญชนิดนี้  สมัยก่อนทำกันที่ลานนวดข้าวเลยทีเดียว  พร้อมกับมีพิธีสู่ขวัญควาย  ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีคุณ  ช่วยในการทำนา  แต่สมัยนี้การทำบุญคูนลาน  ก็มักจะรวมกันไปทำที่วัดประจำหมู่บ้านเป็นส่วนใหญ่  นับเป็นประเพณีเก่าแก่ที่น่านิยมสรรเสริญงานหนึ่งทีเดียว  ซึ่งปัจจุบันนี้ (พ.ศ. 2555) น่าจะหมดไปแล้ว หรืออาจจะมีบ้างบางจังหวัด  เนื่องจากควายที่เป็นสัตว์ที่มีบุญคุณเกือบจะหมดไปจากอีสานเราแล้ว  ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่า เด็กรุ่นหลังจะไม่เห็นควายลากไถแล้ว  เพราะเกือบทุกจังหวัดจะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยแล้ว  คือ  ควายเหล็ก  นั่นเอง  อันเป็นการทำลายธรรมชาติทุกอย่าง  ทำลายปุ๋ย  ทำลายหน้าดิน  ควาย่จริงยังถ่ายอุจจาระเป็นปุ๋ย  แต่ควายเหล็ก  มีแต่ทิ้งน้ำมันทำลายหน้าดิน
บุญผะเหวด (พระเวส) หรือเทศน์มหาชาติ เดือนสี่
          เดือนสาม  มีประเพณีการทำบุญเรียกว่า  บุญข้าวจี่  โดยชาวบ้านทุกบ้านจะพากันทำข้าวจี่ไปถวายพระภิกษุสามเณรตามวัดต่าง ๆ  โดยทั่วไป  สมัยผู้จัดทำอยู่บ้านนอกก็เคยทำเป็นประจำ  โดยนำความเหนียวมาปั้นเป็นก้อนกลมเหมือนไข่แต่ใหญ่กว่าไข่เป็นสิบ ๆ  เท่า  แล้วเอาไม้ไผ่เสียบย่างไฟจนสุกเกรียมมีเกลือป่นโรยเล็กน้อย เพื่อให้มีรสชาติน่ากิน  ถ้าใครทำจนชำนาญ สีข้าวจะเหลืองอร่ามน่ารับประทานมาก  บางทีก็ผสมกับไข่เป็ดและไข่ไก่ด้วย แล้วนำไปถวายพระ-เณร  แต่ในสมัยปัจจุบัน ข้าวจี่มักจะทำพิเศษขึ้นกว่าสมัยก่อน  เช่นมีไส้อ้อยอยู่ข้างในบ้าง  น้ำตาลปีกบ้าง  ส่วนภายนอกก็นำข้าวเหนี่ยมาชุบไข่ปิ้งจนเหลือสุกน่ากิน  การทำบุญข้าวจี่ที่ชาวอีสานนิยมทำกันนั้น เห็นจะมาจากเรื่องราวในพุทธประวัติตอนหนึ่งที่เล่ากันมาว่า  ในครั้งพุทธกาลนั้น  มีทาสของเศรษฐีคนหนึ่งชื่อ  นางปุณณา  ต้องเดินไปตักน้ำเป็นระยะทางไกลทุกวัน  จึงต้องเตรียมข้าวจี่ติดตัวไปกินระหว่างทาง  วันหนึ่งได้พบพระพุทธองค์พอดี  นางปุณณาบังเกิดศรัทธาจึงถวายข้าวจี่แด่พระพุทธองค์ซึ่งทรงฉันจนหมดแล้วแสดงธรรมให้นางปุณณาฟัง  จนกระทั่งบรรลุโสดาปัตติผล  จึงถือกันเป็นประเพณีทำบุญข้าวจี่กันสืบมา
บุึญเดือนห้า สรงน้ำพระหรือสงกรานต์
          เดือนสี่  มีประเพณีการทำบุญใหญ่ในรอบปีของชาวอีสานงานหนึ่ง นั่นคืองานฟังเทศน์มหาชาติ  ซึ่งชาวอีสานเรียกบุญเดือนนี้ว่า  งานบุญพระเวส หรือ งานบุญคบงัน (อีสานออกเสียง "ผะเหวด") เรื่องการฟังเทศน์มหาชาตินี้  ก็นับเป็นงานบุญงานกุศลที่ชาวภาคกลางเอง ก็ยังคงยืดถือปฏิบัติอยู่สืบมาจนทุกวันนี้  เล่ากันว่าผู้ใดสามารถฟังเทศน์มหาชาติ  เรื่องพระเวสสันดรให้จบภายในวันเดียวกันทุกคาถาแล้ว ก็ได้อานิสงส์สูงยิ่งนัก  สำหรับชาวอีสานแล้ว  จัดงานบุญพระเวสกันเป็นงานใหญ่ติดต่อกันถึง 3 วัน คือ วันแรกเป็นวันโฮมหรือวันรวม  วันที่สองมีการจัดขบวนแห่พระเวสสันดร นางมัทรีและกัณหาชาลี  พอวันที่สามจึงเป็นวันฟังเทศน์มหาชาติ  ซึ่งชาวบ้านจะมาร่วมงานบุญพระเวสนี้กันอย่างล้นหลาม
บุญเดือนหก บุญบั้งไฟ ยโสธรขึ้นชื่อที่สุด
          เดือนห้า  มีเทศกาลงานบุญที่ยิ่งใหญ่ในรอบปีอีกงานหนึ่ง นั่นคือ  บุญสรงน้ำ  หรืองานสงกรานต์ที่เรารู้จักกันนั่นเอง  งานนี้จะมีการสรงน้ำพระพุทธรูป  และพระภิกษุสามเณรที่เคารพนับถือเหมือนชาวภาคเหนือจัดงานรดน้ำดำหัวนั่นเอง  นอกจากพิธีสรงน้ำพระ-เณรแล้ว  ก็มีการเล่นสนุกสนานนานาชนิด  ระหว่างเพื่อนบ้าน  เล่นสาดน้ำกันไม่แพ้ชาวภาคเหนือเหมือนกัน  นับว่าประเพณีสงกรานต์ เป็นประเพณีที่แพร่หลายไปทั่วประเทศ  ไม่ว่าภาคเหนือ  ภาคอีสาน  ภาคใต้ หรือภาคกลางก็ตาม  ล้วนแต่มีงานสงกรานต์เดือนห้ากันทั้งนั้น
          เดือนหก  ชาวอีสานมีประเพณีงานบุญสืบเนื่องกันถึงสองงานในเดือนนี้ นั่นคือ  การทำบุญวันวิสาขบูชา และ งานบุญเซิ้งบั้งไฟ  ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวอีสาน  ทีตกทอดกันมาแต่โบราณกาล  ตามความเชื่อถือดั้งเดิมของงานบุญเซิ้งบั้งไฟบูชาพญาแถน  ซึ่งก็คือเทวดาบนฟากฟ้า  ให้ช่วยบันดาลให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล  เพื่อข้าวกล้าในท้องนาจะได้งอกงามเขียวขจี  ทุกวันนี้งานบุญเซิ้งบั้งไฟเดือนหก ก็ยังเป็นประเพณีที่ช่าวอีสานยึดถือปฏิบัติกันสืบมา  งานที่ใหญ่ที่สุดในอีสานเห็นจะได้แก่  จังหวัดยโสธรและจังหวัดหนองคาย
บุญซำฮะ  เดือน 7
          เดือนเจ็ด  มีงานบุญที่ค่อนข้างจะแปลกออกไปจากท้องถิ่นอื่น ๆ  นั่นคือ ชาวอีสานจะจัดงานบุญชื่อ  บุญซำฮะ หรือ บุญชำระ  นั่นเอง  (อย่างที่บอกไว้สำเนียงอีสาน  ร จะเป็น ฮ  และ ช ช้าง จะไม่มีเสียงในภาษาอีสานเช่นเดียวกันกับประเทศลาว  จะไม่มีเสียง  ช  มีแต่เสียง  ซ  จะมียกเว้นบ้างเฉพาะชื่อของคนและสถานที่)  เรียกกันอย่างเต็มยศว่า  บุญซำฮะบ๋าเบิก  เป็นงานบุญที่ชาวบ้านจะเข้าวัด ฟังเทศน์ฟังธรรม  ถวายอาหารพระภิกษุ-สามเณร  เพื่อชำระจิตใจให้พ้นจากเรื่องเศร้าหมองอันเป็นมลทินทั้งปวง  งานบุญชำระนี้ เมื่อพิจารณาดูตามระยะเวลาแห่งงานแล้ว ก็น่าสันนิษฐานว่า  ชาวอีสานจัดงานบุญซำฮะขึ้น  เพื่อชำระมลทินในการสนุกสนานจากงานบุญบั้งไฟ  ซึ่งมักจะมีการดื่มเหล้ากันอย่างมโหฬาร  ขนาดเรียกว่าเมากันที่สุดในรอบปี  และอีกประการหนึ่ง  ก็เพื่อชำระจิตใจให้ผ่องใน  เพื่อเตรียมรับเทศกาลเข้าพรรษาในเดือนต่อไปนั่นเอง
แห่เทียนพรรษา บุญเดือน 8 อุบลฯ ขึ้นชื่อที่สุด
          เดือนแปดบุญเข้าพรรษา  เป็นงานบุญของอีสาน ที่แพร่หลายไปทั่วในหมู่ชาวพุทธและชาวภาคอื่น ๆ  ที่เป็นพุทธศาสนิกชน  ก็จะไม่ละเลยงานบุญเข้าพรรษา  ซึ่งจะต้องมีการหล่อเทียนจำนำพรรษา  แห่แหนประกวดกันก็มี  ที่ขึ้นชื่อที่สุด คือ การแห่เทียนพรรษาที่จังหวัดอุบลราชธานี  มีงานแห่เทียนพรรษาน่าดูมากในอีสานและในประเทศไทย  วันเข้าพรรษาก็มีการทำบุญฟังเทศน์ฟังธรรมโดยทั่วหน้า
          เดือนเก้า  ชาวอีสานมีงานบุญที่น่าสนใจอีกงานหนึ่ง  งานนี้เรียกกันว่า  บุญข้าวประดับดิน  คือการนำข้าวปลาอาหารทั้งของคาวหวาน  ไปกองไว้ตามพื้นดิน  ในเขตทางสามแพร่งบ้าง  ในบริเวณใต้ต้นไม้บ้าง  ในเขตวัดบ้าง  เพื่อให้พวกผีเปรต (อีสาน เรียกว่า  ผีเผด) ที่ไม่มีญาติได้กิน  โดยจัดงานบุญข้าวประดับดินกันในวันแรม 14 ค่ำเดือน 9 ของทุกปี  เพราะในวันนี้เชื่อกันว่า  ยมบาลจะปล่อยผีเปรตที่ไม่มีญาติทั้งหลายพ้นจากขุมนรกชั่วขณะเพียง 2 ชั่วโมง คือ ตั้งแต่ตี 4 ถึง 6 โมงเช้า  ดังนั้น ชาวอีสานที่ทำบุญข้าวประดับดินจึงเตรียมทำอาหารกันแต่ดึกดื่น  และนำไปวางไว้ตามพื้นดินตั้งแต่ก่อน 4 นาฬิกา  ครั้งพอรุ่งเช้าก็ทำอาหารไปถวายพระที่วัดอีกครั้งหนึ่ง  นับเป็นงานบุญที่แสดงถึงความกรุณาปรานีของชาวอีสานเป็นอย่างสูง

บุญข้าประดับดิน เดือน 9

บุญข้าวสาก เดือนสิบ
          เดือนสิบ  วันเพ็ญกลางเดือน 10 ชาวอีสานมีประเพณีงานบุญเรียกกันสั้น ๆ ว่า บุญข้าสาก  หรือที่คนไทยในภาคกลางเรียกกันว่า ทำบุญสารทไย  นั่นแหละ  ข้าวสากของชาวอีสาน ก็คือกระยาสารท ที่คนไทยในภาคกลางเรียกกัน   ข้าวสาก หรือ กระยาสารท ทำจากข้าวตอก  ข้าวเม่าคลุกกับถั่วงาและน้ำอ้อย  ถึงระยะนี้ไม่ว่าที่ไหน ๆ  ก็เต็มไปด้วยข้าวสาก หรือ กระยาสารท กันทั้งนั้น  ถ้าเคยเป็นเด็กวัดมาก่อน  ก็คงจะรู้ดีทีเดียว
บุญเดือน 11 ออกพรรษา แห่ปราสาทผึ้ง
จังหวัดหนองคาย ขึ้นชื่อที่สุด
          เดือนสิบเอ็ด  ชาวอีสานก็คงมีงาน  บุญออกพรรษา  เป็นงานใหญ่ประจำปี เหมือนชาวพุทธในภาคกลางนั่นเอง  ตอกจากจะมีการทำบุญกันอย่างใหญ่โตตามวัดต่าง ๆ  ทั่วไปแล้ว  ยังมีประเพณีการละเล่นสนุกสนาน  ในงานบุญออกพรรษาอีกมาก  อย่างเช่นที่จังหวัดหนองคาย  จะมีพิธีแห่ปราสาทผึ้งไปถวายพระธาตุกลางน้ำ  มีการแข่งเรือยาวในแม่น้ำโขง  สนุกสนานกันทั้งวัน  พอตกค่ำก็จะมีการลอยใต้ประทีปกันในแม่น้ำโขง  ใต้ประทีป ก็คือ ลอยกระทง นั่นเอง  ชาวอีสานโดยเฉพาะที่หนองคาย  จึงอาจจะกล่าวได้ว่า  มีงานลอยกระทงกันปีละสองครั้ง  คือวันเพ็ญเดือน 11 ครั้งหนึ่ง  และวันเพ็ญเดือน 12 อีกครั้งหนึ่ง
บุญกฐิน เดือน 12
          เดือนสิบสอง  ชาวอีสานก็คงมีประเพณีการทำบุญเหมือนชาวภาคกลางและภาคอื่น ๆ  ของไทย  นั่นคือ  บุญกฐิน  ในเดือนนี้จะมีการทอดกฐินตามวัดต่าง ๆ  โดยทั่วไปตลอดทั้งเดือน  นับแต่วันออกพรรษา จนกว่าจะถึงวันเพ็ญเดือน 12 นั่นแหละ
          นี่คือ  ฮีตสิบสอง  หรือ  ประเพณีในรอบ 12 เดือนของชาวอีสาน ที่ยังคงถือปฏิบัติกันสืบมาอย่างน่าชื่นชมยิ่ง  น่าเสียดายที่เราไม่อาจจะเล่ารายละเอียดของงานบุญแต่ละงานได้หมดสิ้น  ที่นำมาเล่านี้ก็เพียงแต่แก่นแท้ของประเพณีเท่านั้น  แต่ก็หวังว่าจะทำให้คุณผู้ที่สนใจ ได้ประจักษ์ในประเพณีไทยอันเก่าแก่ว่าดีงามเพียงใด
          แล้วก็สมควรที่ชาวไทยทุกคน  ไม่แต่ชาวอีสานเท่านั้น  จะได้ช่วยกันฟื้นฟูและรักษาฮีตสิบสองนี้ให้คงอยู่และเจริญรุ่งเรืองสืบไป  ไม่อยากให้ไปลุ่มหลงในวัฒนธรรมฝรั่งตะวันตก  อันแฝงมาด้วยลัทธิบริโภคนิยมหรือทุนนิยม  ซึ่งใช้แต่เงินทุนเป็นหลักและการหลงระเริงเป็นหลัก  เนื้อแท้หาคุณค่าไม่ได้เท่ากับประเพณีของชาวไทยดังกล่าวเลย