>เรื่องเล่าสวนงู

           เมื่อเอ่ยคำว่า งู ขึ้นมา เราเชื่อว่าใครก็รู้จัก  แต่คำว่า สวนงู เป็นชื่อที่ไม่ค่อยจะคุ้นหู  แถมฟังแล้วยังขัด ๆ  หูเสียอีกด้วย  เพราะคำว่า สวน  นั้น  เรามักจะใช้กับสวนผลไม้  หรือการประกอบอาชีพที่เรียกว่า ทำไร่ทำสวน  เมื่อเอ่ยคำว่า สวนงู ขึ้นมา  จึงอาจะทำให้เข้าใจผิดกันได้ว่า  บัดนี้คงจะมีใครหันมาประกอบอาชีพทางด้านการทำสวนงูขึ้นมาในเมืองไทยแล้วกระมัง ?  แล้วก็จะเกิดความสนเท่ห์ใจต่อไปว่า  สวนงู  คืออะไร ?
          ความจริงสวนงูเป็นของมีมานานแล้วในประเทศไทยของเรา  และแถมยังอยู่ในใจกลางกรุงเทพฯ นี่เอง  เป็นสถานที่รวบรวมงูที่มีพิษร้ายต่าง ๆ  ไว้มากที่สุด  เช่น  งูเห่า  อันเป็นงูที่มีพิษร้ายแรงที่สุด  งูจงอาง และงูสามเหลี่ยม ฯลฯ  เป็นต้น
          สวนงูอยู่ที่ไหน ?  บางท่านอาจจะยังนึกไม่ออกทั้ง ๆ  ที่เป็นคนกรุงเทพฯ ก็ตาม  แต่ถ้าจะบอกว่า ท่านรู้จักสถานเสาวภาหรือไม่แล้ว  เราเชื่อว่าท่านคงจะต้องรู้จักแน่ ๆ  และไปถูก
การแสดงในสวนงู  กรุงเทพฯ
          สวนงูอยู่ที่สถานเสาวภานี่เอง  ทำไม้สถานเสาวภาถึงมีสวนงู อันเป็นที่เลี้ยงงูพิษไว้มากที่สุด  เรื่องนี้เป็นเรื่องที่นาสนใจ และในทุกวันนี้  นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ  ก็สนใจมาชมสวนงูของสถานเสาวภากันเป็นจำนวนมาก  เพราะสวนงูของไทยเรานี้  นับเป็นสวนงูแห่งที่สองของโลก  สวนงูแห่งแรกของโลกนั้นอยู่ที่ประเทศบราซิล
          ก่อนจะเล่าถึงเรื่องราวสวนงู  เราน่าจะมาทำความรู้จักกับสถานที่ตั้งของสวนงูเสียก่อน  นั่นคือ  สถานเสาวภา
          คำว่า  เสาวภา  นี้เป็นชื่อเรียกสามัญ  ที่ชาวกรุงเทพฯ ทั่วไปคุ้นเคยเรียกกันจนแทบจะไม่รู้จักชื่อจริง  หรือชื่อที่เป็นทางราชการ  เพราะสถานเสาวภามีชื่อทางราชการว่า  กองวิทยาศาสตร์  สภากาชาดไทย
          ชื่อทางวิทยาศาสตร์ที่ตั้งเป็นภาษาอังกฤษคือ Pasteur Institute ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นักวิทยาศาสตร์คนแรกของโลก ที่สามารถคิดค้นเซรุ่ม ในการฉีดป้องกันโรคกลัวน้ำหรือป้องกันโลกพิษสุนัขบ้านั่นเอง
          ปาสเตอร์  เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส  ซึ่งเชื่อว่าใคร ๆ  ก็คงรู้จักชื่อและผลงานอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่มวลมนุษยชาติของเขาดี
หลุยส์  ปานเตอร์ ชาวฝรั่งเศส
ผู้คิดค้นเซรุ่ม
          สำหรับในประเทศไทยเรานั้น มีการผลิตเซรุ่ม มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2448  อันตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั่นเอง  ทั้งนี้โดยมีการจัดตั้งกองผลิตวัคซีนเซรุ่มขึ้น  โดยแรกทีเดียวมีสังกัดอยู่กับกระทรวงธรรมการ หรือ กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน  ครั้นต่อมากองผลิตเซรุ่ม  ก็ได้ย้ายสังกัดมาอยู่กับกระทรวงมหาดไทย
          จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2456  ในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  จึงมีการจัดตั้ง  สถาบันปาสเตอร์ หรือ สถานเสาวภา ขึ้นในประเทศสยามเป็นครั้งแรก
          สาเหตุที่มีการจัดตั้งสถานเสาวภาขึ้นในเมืองไทยนั้น  ก็เพราะว่า  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย  ได้ทรงสูญเสียพระธิดา คือ หม่อมเจ้าหญิงอนุศิริสาร  ซึ่งสิ้นชีพตักษัยด้วยโรคกลัวน้ำ หรือ พิษสุนัขบ้านั่นเอง พระองค์ทรงเห็นว่า แม้แต่ลูกเจ้าลูกนาย  ก็ยังต้องเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า  แล้วลูกชาวบ้านธรรมดา ยิ่งมิลำบากกว่านี้หรือ ?
          สมเด็จกรมพระยาดำรงราชนุภาพ  จึงทรงทูลขอพระบรมราชานุญาต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยูหัว ขอจัดตั้งสถาบันปาสเตอร์ขึ้น  เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำให้แก่สุนัข และฉีดยาแก้ให้แก่ผู้ที่ถูกสุนัขบ้ากัด
          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชานุญาตแลบ้วก็จัดตั้งสถานที่สำหรับฉีดวัคซีนขึ้นที่ยศเส  ถนนบำรุงเมืองในปีนั้นนั่นเอง  พร้อมกับรวมงานผลิตหนองฝีสำหรับไข้ทรพิษ มารวมอยู่ในสถานที่แห่งเดียวกัน
          ในปี พ.ศ. 2456 นี่เอง  ก็ได้มีการจัดตั้ง สถานเสาวภา ขึ้น  โดยสร้างตึกขึ้นใหม่ ซึ่งก็คือสภากาชาดไทยในทุกวันนี้นั่นเอง  โดยใช้ชื่อพระนามของ สมเด็จพระพันปีหลวง เสาวภาผ่องศรี และสร้างขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
การรีดพิษงู เพื่อทำเซรุ่ม
          เมื่อสร้างสถานที่ทำการเสร็จแล้ว  งานผลิตเซรุ่มทั้งหมด ก็ย้ายมาอยู่ที่นี่ จนถึงปี พ.ศ. 2460  หน่วยงานแห่งนี้  จึงได้โอนมาเป็น สภากาชาดไทยโดยสมบูรณ์  จนถึงปี พ.ศ. 2466  สภากาชาดไทยจึงได้เปิดสวนงูขึ้นที่นี่เป็นปีแรก และสวนงูของไทย ก็มีแต่นั้นเป็นต้นมา
          นี่คือเรื่องราวความเป็นมาของสวนงูและสถาบันปาสเตอร์ในประเทศไทยโดยสังเขป  นับว่าประเทศไทยของเรา  ก้าวหน้าในงานด้านนี้ มากกว่าอีกหลาย ๆ  สิบประเทศในโลกเพราะแม้แต่การตั้งสวนงูขึ้นนั้น  ก็เป็นประเทศที่สองของโลก รองลงมาจากบราซิล  อันเป็นประเทศที่มีงูพิษดุร้าย  ชุกชุมมาก
          สวนงู คือสถานที่เลี้ยงงูพิษดุร้ายชนิดต่าง ๆ  นับร้อย ๆ  ตัว  เพื่อนำมารีดพิษสำหรับผลิตวัคซีนฉีดป้องกันผู้ที่ถูกงูกัด มิให้ถึงแก่ความตาย  ประเทศของเรา เป็นประเทศที่มีงูมาก  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงูที่ไม่มีพิษหรือมีพิษก็ไม่มาก  เพียงกัดแล้วปวดแสบปวดร้อน ไม่ถึงตาย  แต่ก็มีงูอีกหลายชนิด ที่มีพิษร้ายแรง กัดใครเข้า ถ้านำมาฉีดวัคซีนไม่ทัน ก็ตายเอาง่าย ๆ
          ทั้ง ๆ  ที่ประเทศของเรามีงูแยะ  แต่ก็เชื่อว่า  คงจะไม่มีใครสนใจที่จะศึกษาเรื่องราวของงูมากนัก  เราจึงขอนำมาเล่าสักเล็กน้อยเพื่อเป็นความรู้รอบตัว
          นักวิทยาศาสตร์ได้แบ่งงูออกเป็นหลายชนิด  ทั้งงูมีพิษและไม่มีพิษ  ส่วนใหญ่แล้ว เขาจะจำแนกชนิดหรือประเภทของงู ออกตามพิษของงู ที่ทำอันตรายต่อผู้คน  เช่น  งูพิษบางชนิดเมื่อกัดคนแล้ว พิษของมันก็จะซ่านไปตามสายโลหิต  บางชนิดก็ไปทำลายเส้นประสาทให้ถึงตาย
          การจำแนกงูอีกชนิดหนึ่ง ที่นิยมอยู่มากก็คือ  จำแนกตามชนิดของเกล็ดที่หัวลำตัว หรือ ที่ท้อง
          สำหรับงูพิษในประเทศไทยของเรานั้น มีอยู่มิใช่น้อยเหมือนกัน เช่น  งูเห่า  เป็นงูที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในประเทศไทย  แถบภาคกลาง  มีดอกจันทน์อยู่บนหัว  เวลาโกรธมันจะแผ่แม่เบี้ยและมีเสียงขู่ฟ่อ  งูจงอาง  เป็นงูพิษที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก  ในประเทศไทยของเรา เคยพบงูจงอางใหญ่ที่สุด ยาว 4 เมตร  แต่ทว่างูจงอางมีพิษน้อยกว่างูเห่าประมาณ 10 เท่า มีมากในเขตจังหวัดนครสวรรค์  เพชรบูรณ์ และ นครศรีธรรมราช
          งูสามเหลี่ยม  ลำตัวเป็นรูปสามเหลี่ยม  มีหลายเหลือสลับดำ  มีมากในภาคกลางของประเทศ  แถบจังหวัดสระบุรี  ลพบุรี  อ่างทอง  นครนายก  เป็นต้น 
          งูพิษทั้งสามชนิดนี้  มีพิษทางระบบประสาท  เมื่อกัดคนแล้ว  พิษของงูจะไปทำลายระบบประสาทจนกระทั่งตาย  ถ้าแก้ไขไม่ทัน 
ส่วนงูพิษที่มีพิษทางสายโลหิตนั้น  ในประเทศไทยก็มี  คือ
งูแมวเซา  ที่เรียกงูชนิดนี้ว่า  แมวเซา  ก็เพระว่าเวลามันโกรธจะส่งเสียงกรนสั้น ๆ  เหมือนเสียงแมว  งูแมวเซาชอบอยู่ตามท้องทุ่งนา  จึงมีมากในภาคกลาง
งูกะปะ  เป็นงูพิษเมืองฝั่งทะเล  มีมาในภาคใต้  ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป  ส่วนทางชายฝั่งทะเลตะวันออกก็มีที่ ระยอง  จันทบุรีและตราด  งูชนิดนี้มีข้อสังเกตคือมีจุดอยู่อยู่ระหว่างตาและจมูก  อันเป็นอวัยวะที่ช่วยให้มันรู้ว่า มีอะไรใกล้ตัวมัน  เพื่อมันจะได้ป้องกันตัวเองได้
งูชายธง หรือ งูคออ่อน เป็นงูทะเลที่มีพิษดุร้าย ใครถูกกัดก็ถึงตาย  ถ้าฉีดวัคซีนแก้ไขไม่ทัน
นอกจากงูพิษสำคัญต่าง ๆ  เหล่านี้แล้ว  เมืองไทยก็มีงูอีกมากมายนับไม่ถ้วน  แต่งูจะมีพิษหรือไม่มีก็ตาม  แต่ก็เป็นที่เกลียดกลัวของคนทั่วไป  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนผู้หญิงรู้สึกว่าจะเกลียดงูและขยะแขยงมากทีเดียว
ทุก ๆ  ปีในบ้านเมืองของเรา  จะมีผู้ถูกงูกัดจนถึงแก่ชีวิตเป็นจำนวนไม่น้อยดังที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่เสมอ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวชนบท    ที่อยู่ห่างหมอ    มักจะแก้ไขไม่ทัน  จึงไม่เป็นของแปลกที่ใคร ๆ  ก็เกลียดและกลัวงู
ถ้าหากใครถูกงูกัด และอยู่ห่างหมอ  หรือถึงจะอยู่ใกล้ก็ตาม   ควรจะรีบทำปฐมพยาบาลตามวิธีง่าย ๆ  แต่ถูกต้อง นั่นคือ ต้องรีบเอาผ้ารัดที่ตรงเหนือบริเวณแผล ซึ่งถูกงูกัดขึ้นมานิดหนึ่ง  แล้วรีบตำคนเจ็บไปส่งโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย  ผ้าที่รัดไว้นี้จะต้องรัดให้แน่น  แต่จะต้องค่อย ๆ  คลายออกทุก 10 นาที  เพื่อมิให้แผลหรือเนื้อบริเวณนั้นตาย
การทำปฐมพยาบาลโดยการกรีดปากแผลและดูพิษนั้น ไม่ควรทำ  เพราะจะทำให้แผลสกปรก หรือการให้ยาบำรุง หรือเหล้าให้คนถูกงูกัดกินนั้น  ยิ่งไม่สมควร  เพราะจะทำให้พิษงูซ่านไปทั่วร่างกายได้เร็วขึ้น  วิธีดีที่สุดคือใช้ผ้ารัดเหนือแผล แล้วนำส่งหมอโดยด่วนที่สุด  เพราะเซรุ่มซึ่งมีอยู่ 5 ชนิดตามพิษของงู มาฉีดแก้
การรีดพิษงูที่สถานเสาวภานี้  น่าดูและน่าตื่นเต้นมาก  ปกติจะมีการรีดพิษงูทุกวันในเวลา 10 นาฬิกา  งูพิษนานาชนิด  ทั้งงูเห่า  งูจงอาง  งูสามเหลี่ยม   ที่เลี้ยงอยู่ในบ่องูของสถานเสาวภา   นับร้อย ๆ  ตัวนั้น  ดูน่ากลัวนัก  แต่นายแพทย์ของสถานเสาวภาจับมันมารีดพิษได้อย่างน่าตื่นเต้น  โดยไม่ถูกงูกัดเลย  แต่ก็เคยมีเหมือนกันที่งูกัด  ซึ่งก็ไม่น่ากลัว  เพราะมีเซรุ่มพร้อมที่จะฉีดรักษาได้ทันที
นอกจากการรีดพิษงูทุกวันแล้ว  ในวันพฤหัสบดีจะมีการให้อาหารงู  ซึ่งก็น่าดูน่าสนใจยิ่งเช่นกัน  โดยเริ่มให้อาหารงู  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเนื้อก้อนเล็ก ๆ  ผสมนม  ตั้งแต่เวลา 12 นาฬิกา  การเข้าชมการรีดพิษและให้อาหารงูนี้  จะต้องเสียค่าบำรุงคนละ 5 บาท (ปี 2523  ขณะนี้อาจจะขึ้นแล้ว)  อันไม่น่าเสียดายเลย  เพราะเงินจำนวนนี้  นอกจากจะเป็นค่าเข้าชมแล้ว ยังได้รับแจกหนังสือเกี่ยวกับงูพิษในประเทศไทยและโรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำด้วย
สถานเสาวภา  กรุงเทพฯ
การรีดพิษงูเพื่อนำไปผลิตเซรุ่มสำหรับฉีดรักษาคนที่ถูกงูกัดนั้น  เมื่อรีดพิษงูแต่ละชนิดมาได้แล้ว  เขาจะนำไปทำให้แห้ง  โดยใช้เครื่องดูดแห้งหรือเครื่องเคมี  พิษงูจะตกเป็นเกล็ดเล็ก ๆ  นำไปเก็บและใช้ได้นาน  สำหรับการผลิตเซรุ่ม
การผลิตเซรุ่มนั้น  เขาจะนำพิษงูที่รีดมานี้  ไปฉีดให้ม้า  โดยฉีดทีละน้อย ๆ  เพื่อให้ม้ามีแรงต้านทาน แล้วจึงค่อย ๆ  เพิ่มจำนวนพิษงูมากขึ้นเรื่อย ๆ  ทำอยู่เช่นนี้จนประมาณ 5 – 6 เดือน ในตัวม้าก็จะมีพิษงูเต็มไปหมด  และสามารถต่อต้านพิษงูได้อย่างเต็มที่  พอถึงขั้นนี้ก็จะเจาะเอาเลือดม้าออกมา  กลั่นเอาแต่น้ำสีเหลือซึ่งเป็นเซรุ่มประเภทแอนตี้บอดี้  ซึ่งใช้ฉีดแก้พิษงูได้นั่นเอง
ม้าที่เลี้ยงไว้สำหรับผลิตเซรุ่มนี้  สถานเสาวภาเลี้ยงไว้โดยเฉพาะ  ที่ฟาร์มของกรมวิทยาศาสตร์  บางพระ  ชลบุรี
ทุกวันนี้ มีนักท่องเที่ยวไปชมการรีดงูที่สถานเสาวภาเป็นจำนวนมาก  นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ  ที่หาชมได้ในประเทศอื่นได้ยาก  ฝรั่งนักท่องเที่ยวทั่ว มักจะเรียกสถานเสาวภาแห่งนี้ว่า  Snake  Farm  อันเป็นที่มาของคำว่า สวนงู  ในภาษาไทยนั่นเอง...