>เรื่องเล่าสมเด็จพระพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

          การสถาปนาเป็นพระมหากษัตริย์นั้น  เป็นพระราชพิธีที่สำคัญที่สุดของสังคม  ด้วยเป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อการรับรองหัวหน้าหรือผู้นำของสังคม ในประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างประเทศไทยนั้น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก จึงเป็นแบบแผนประเพณีสำคัญดังปรากฏในหลักศิลาจารึกนครชุม หลักที่ 1  ว่า
พระบรมสาทิสลักษณ์
พระบาทสมเด็จ
พระพุทยอดฟ้า
จุฬาโลกมหาราชา
          “ศักราช 1279  ปีระกา  เดือนแปดออกห้าค่ำวันศุกร์  คนไทย กัดเล้าบูรพผลคุณีนักษัตร  เมื่อยามวันสถาปนานั้นเป็นทุกค่ำแล  พระยาลือไทยราชผู้เป็นลูกพระยาเลอไทย เป็นหลานแก่พระยารามราช  เมื่อได้เสวยราชย์ในเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย   ได้ราชาภิเษก อันฝูงท้าวพระยาทั้งหลายอันเป็นมิตรสหายอันมีในสี่ทิศนี้  แต่งกระยาตังวายของฝากหมากปลามาไหว้  อันยัดยัญอภิเษกเป็นท้าวเป็นพระยา  จึงขึ้นชื่อศรีสุริยพงศ์มหาธรรมราชาธิราช  หากเอาพระศรีรัตนมหาธาตุอันนี้มาสถาปนาในเมืองนครชุมนี้ปีนั้น”
          ในการราชาภิเษกเป็นกษัตริย์ครั้งนั้น น่าจะเชื่อว่า ได้มีพระราชพิธีเช่นนี้เกิดขึ้นมาก่อนแล้วและผู้เป็นพ่อขุน  หรือขุนหลวงและกษัตริย์นั้น ก็จะต้องปลูกเลี้ยงฝูงลูกบ้านลูกเมืองชอบด้วยธรรมทุกคน  ซึ้งยังปรากฏข้อความสดุดีที่บอกถึงความแน่นแฟ้นในการเป็นผู้นำที่หามิได้ ไว้ว่า
          “พ่อขุนรามคำแหงนั้น หาเป็นท้าวเป็นพระยาแก่ไทยทั้งหลาย หาเป็นครูอาจารย์  สั่งสอนไทยทั้งหลายให้รู้บุญรู้ธรรมแท้”
          สำหรับระเบียบประเพณี พระราชพิธีบรมราชาภิเษกแต่โบราณนั้น  เชื่อว่ามีหลักฐานปรากฏในสมัยกรุงศรีอยุธยาสืบขนบธรรมเนียมต่อเนื่องอยู่แล้ว  ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช   รัชกาลที่ 1  ได้จัดพระราชพิธีปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า  ปฐมกษัตริย์บรมราชวงศ์จักรี  พระองค์ได้ทรงพระราชดำริที่จะรักษาระเบียบแบบแผนของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเก่าในครั้งนั้น  พระองค์ทรงโปรดให้มีพิธีสวดมนต์ 3 วัน  แล้วสรงทรงเครื่องต้นเสด็จเลียบพระนครอย่างสังเขป  เนื่องจากขณะนั้นบ้านเมืองยังไม่เรียบร้อยดี  คงจัดพระราชพิธีเพียงเป็นสวัสดิมงคลแก่บ้านเมืองและพระองค์เอง
          ต่อมาเมื่อมีเวลาพอจะสะสางขนบธรรมเนียมประเพณี จึงโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการผู้ใหญ่ 4 ท่าน  ที่เคยรู้และปฏิบัติแบบแผนราชประเพณีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา  ได้ช่วยกันวางระเบียบพระราชประเพณีถวาย  เมื่อเจ้าพระยาเพชรพิชัย ประธานคณะร่างระเบียบราชประเพณี ได้จัดทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกโดยละเอียดเสร็จแล้ว  จึงนำความกราบบังคมทูล  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1 จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีนี้ใหม่เมื่อ พ.ศ. 2328
          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  รัชกาลที่ 1 นั้น โดยชาติตระกูลแล้ว สืบเชื้อสายมาจาก “ราชวงศ์พระร่วง” กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย  ที่มีตำนานเล่าขานถึงเจ้าแม่วัดดุสิตผู้เป็นทายาทแห่งพระธิดาของสมเด็จพระเอกาทศรถ  พระราชโอรสของพระมหาธรรมราชา  ซึ่งเป็นมารดาของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) หรือที่เรารู้จักกันทั่วไปว่า “เจ้าพระยาโกษาปาน”  ซึ่งถือว่าเป็นต้นตระกูลสยามสำคัญที่สืบต่อมาเป็นพระยาราชนิกูล (ทองคำ) และสมเด็จพระชนกาธิบดี (ทองดี) ผู้เป็นพระบรมราชชนกนาถ แห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  รัชกาลที่ 1  ซึ่งถือกำเนิดที่บ้านสะแกกรัง  จังหวัดอุทัยธานี
          ต้นแผ่นดินพระเพทราชานั้น  ลูกหลานของเจ้าพระยาโกษาปาน ได้พากันอพยพไปอยู่ที่บ้านสะแกกรัง และอาศัยอยู่จนเหตุการณ์สงบลง ก็พากันอพยพกลับมาตั้งอยู่ที่บริเวณป้อมเพชรในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาแล้วเข้ารับราชการ โดยนายทองด้วง ได้เป็น หลวงยกกระบัตร  เมืองราชบุรี และนายบุญมา ได้เป็นนายสุดจินดา  มหาดเล็กหุ้มแพร

พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 1
เชิงสะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า
          ในสมัยกรุงธนบุรี สองพี่น้องผู้เป็นเชื้อสายของเจ้าพระยาโกษาปาน  ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณ พระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นถึงสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) และ พระยาสุรสีห์ (บุญมา)  อันเป็นกำลังสำคัญตลอดแผ่นดิน จนเกิดเหตุการณ์จลาจลวุ่นวายในปลายรัชกาล  อันเป็นเหตุให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก  ต้องกลับจากราชการทัพปราบกัมพูชาเข้ามาแก้ไขเหตุการณ์ในกรุงธนบุรี
          เมื่อพระองค์ทรงปราบปรามยุคเข็ญแล้ว  ก็ทรงปราบดาภิเษก  เป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อ พ.ศ. 2325 พร้อมกับได้ประกาศสถาปนาตั้ง “พระราชวงศ์จักรี” ขึ้น
          พระองค์ทรงบำเพ็ยพระราชกรณียกิจโดยพระปรีชาญาณเฉียบแหลมมั่นคงและเที่ยงธรรม  มีพระนิสัยรอบคอบสุขุมคัมภีรภาพในการที่จะพัฒนาบ้านเมืองให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทรงพระอุตสาหพยายาม และมีกำลังพระทัยและพระวรกายเข้มแข็ง  อดทนต่อความยากลำบากอย่ายิ่ง นับเป็นพระมหากษัตริย์ที่ประเสริฐสุดที่ทรงทำงานอันสำคัญในการกอบกู้เอกราชของชาติ  และสร้างความเป็นปึกแผ่น  มั่นคงมาจนทุกวันนี้
          ส่วนหลักฐานแห่งการสืบเชื้อสายนั้น  หลวงวิจิตรวาทการ นักประวัติศาสตร์สำคัญ ได้เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า
          จะหาชีวิตใครงดงามเหมือนอย่างพระชนม์ชีพของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกดูเหมือนจะหายาก  วงศ์ตระกูลของพระองค์เองนั้น ข้าพเจ้าอยากกล่าวที่สุดว่าสืบเนื่องมาแต่กษัตริย์วงศ์สุโขทัย  แต่เมื่อยังไม่ทราบหลักฐานอันใด นอกจากราชทินนามที่ได้ทรงรับเมื่อครั้งเป็นสมเด็จพระยาดังกล่าวมาข้างต้นแล้วก็ยังไม่กล้าจะกล่าว แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีหลักฐานว่า  พระองค์สืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาโกษาเหล็ก และเจ้าพระยาโกษาปาน  ดังปรากฏในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ ได้ลำดับให้เราเห็นดังนี้
          เจ้าพระยาโกษาปาน  มีบุตรคนใหญ่ ชื่อ  ขุนทอง  ได้เป็นเจ้าพระยาวรวงศาธิราช  เสนาบดีคลัง
          เจ้าพระยาวรวงศาธิราช  มีบุตรคนใหญ่ชื่อ ทองคำ  ได้เป็นพระราชนิกูล  ปลัดทูลฉลอง  ในกรมมหาดไทย  พระยาราชนิกูล  มีบุตรคนใหญ่ชื่อ ทองดี  ได้เป็น  หลวงพินิจอักษร  เสมียนตราในกรมมหาดไทย
          พระยาราชนิกูล  (ทองดี)  ได้ย้ายมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสะแกกรัง  จังหวัดอุทัยธานี  จนมีบุตรคนใหญ่คือ ทองดี  ซึ่งต่อมาเป็นหลวงพินิจอักษร หรือ พระอักษรสุนทรศาสตร์  นั้นก็ย้ายครอบครัวกลับไปตั้งอยู่ที่ป้อมเพชร  กรุงศรีอยธยา
พระบรมราชานุสารีย์  รัชกาลที่ 1
จังหวัดบุรีรัมย์
          หลวงพินิจอักษร (ทองดี) ผู้นี้คือ  บิดาของ นายทองด้วย  ซึ่งต่อมาได้เป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  รัชกาลที่ 1  องค์ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี
          “ถึงแม้จะมีการศึกติดพันอยู่ตลอดรัชสมัยของพระองค์ก็ตาม  สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  มิได้ละเลยการภายใน  ได้ทรงจัดทำเป็นอย่างดีที่สุด ที่จะจัดได้  เริ่มต้นแต่การแบ่งหัวเมืองต่าง ๆ  ให้อยู่ในความควบคุมดูแลของเจ้ากระทรวงต่าง ๆ  กัน อันเป็นวิธีปกครองในครั้งนั้น  ได้ชำระกฎหมาย  สังคายนาพระไตรปิฎก  สร้างวัดวาอารามปราสาทราชมณเฑียร  จัดการค้าขายติดต่อกับจีน  ทำนุบำรุงอาชีพพลเมืองทุกอย่าง  นับว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ที่ทรงทำหน้าที่ทุกประการที่ควรทำและจำเป็นสำหรับเวลานั้น...”
          พระองค์มีพระชนม์ถึง  74  พรรษา  ในชั่วเวลา  28  ปีที่ทรงปกครองประเทศสยามนั้น  พระองค์ได้ทรงยกฐานะประเทศที่ยุ่งยากยุคเข็ญขึ้นมาสู่ประเทศที่ความร่มเย็นเป็นสุข  สามารถแผ่อาณาเขตกว้างไพศาลไปจนตลอดอาณาจักรล้านนา และเกือบตลอดแหลมมลายู  นับว่าพระองค์ทรงเป็นวีรกษัตริย์มหาบุรุษพระองค์หนึ่ง  หากจะถือว่า  ในช่วง  พ.ศ. 2352 – 2453  นั้น  พระองค์จะทรงเป็น “พระสยามเทวาธิราช”  ด้วยพระองค์หนึ่ง  ด้วยพระบุญญาธิการและพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่..ก็ควรจะเคารพนับถือตลอดไป
          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระนามเดิมว่า  ทองด้วง  เสด็จพระราชสมภพที่นิวาสถานภายในกำแพงพระนครศรีอยุธยา  ตำบลป่าตอง  เมื่อวันพุธ เดือน 4 แรม 5 ค่ำ ปีมะโรง อัฐศก  จุลศักราช  1098 ตรงกับวันที่ 20 มีนาคม พุทธศักราช 2279 ขณะนั้นสมเด็จปฐมบรมมหาชนก  ทรงพระนามเดิมว่า  ทองดี  ดำรงบรรดาศักดิ์เป็น  หลวงพินิจอักษร  ตำแหน่งเสมียนตราในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ส่วนพระราชชนนี  ทรงพระนามเดิมว่า  หยก หรือ ดาวเรือง
          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ทรงสถาปนาพระบรมราชจักรีวงศ์  เมื่อเสด็จกลับจากราชการทัพที่เขมร  มาปราบปรามการจลาจลที่กรุงธนบุรี  และทรงรับอัญเชิญจาขุนนางและราษฎรขึ้นครองราชย์ในปีขาล  จัตวาศก  จุลศักราช  1144  (ตรงกับวันที่ 6 เมษายน  พุทธศักราช 2325)  ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธี วันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2461 และโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเป็น “วันที่ระลึกมหาจักรี” นับแต่บัดนั้นมา
พระบรมรูป รัชกาลที่ 1 - 8  ประดิษฐบาน  ณ ปราสาทเทพบิดร  ในพระบรมมหาราชวัง