>เรื่องเล่าจิตรกรรมรามเกียรติ์

          ของดีของไทยมีอยู่มากมายเหลือคณานับ  ที่เป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ  ของดีทางศิลปกรรมที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษที่กล่าวถึงอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ  ภาคจิตรกรรมฝาผนัง  ที่ปรากฏอยู่ตามวัดวาอารามต่าง ๆ  ซึ่งส่วนมากเป็นภาพที่เกี่ยวกับพุทธประวัติหรือชาดกเก่าแก่ คือ ทศชาติ
ภาพจิตรกรรมรามเกียรติ์์วัดพระแก้ว
ในภาพ นิลพัทเนรมิตให้กองทัพพระพรตและพระสัตรุต
ข้ามทะเลไปกรุงลงกา เพื่อช่วยพิเภก
          ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง ที่เก่าแก่และงดงามมีค่านั้น มีอยู่มากเท่าที่เหลืออยู่  เช่น  จิตรกรรมฝาผนังวัดเชิงท่า  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  หรือ จิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณาราม  ริมคลองบางกอกน้อย  ธนบุรี  หรือ ที่วัดใหญ่  เพชรบุรี  เป็นต้น
          ในบรรดาจิตรกรรมฝาผนังไทย ที่เป็นมรดกตกทอดมาแต่กาลบรรพบุรุษนั้น  จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว  กรุงเทพฯ  นับว่าเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย  และแปลกกว่าจิตรกรรมฝาผนังที่เคยมีมาก่อน  ทั้งนี้ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ภาพจิตรกรรมฝาผนังของไทยส่วนมากนั้น  มักจะเป็นพุทธประวัติหรือทศชาติชาดก  อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับชาติปางก่อนของพระพุทธองค์  ก่อนที่จะเสวยชาติเป็นกษัตริย์ และเสด็จออกบวชจนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า  การเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในเรื่องราวทำนองนี้ขึ้น ก็เขียนเพื่อเป็นพุทธบูชา หรือ ให้ชาวพุทธทราบความเป็นมาของพระศาสดาของตัวเอง  ส่วนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ในวัดพระแก้วนั้น  เป็นเรื่องราววรรณคดีเก่าแก่จากเรื่องรามายณะของอินเดีย
          เรื่องราวของจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ในวัดพระแก้วนี้  น่าสนใจ  จึงขอนำประวัติความเป็นมาแต่ดั้งเดิม  มาเล่าสู่กันฟัง
          เป็นทราบกันแล้วว่า  วัดพระแก้ว หรือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แห่งนี้  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  พระปฐมบรมราชวงศ์จักรี  ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างกรุงเทพฯ เมื่อปีพุทธศักราช  2325  เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต  พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทยที่ไปตกอยู่  ณ เมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว นับเป็นเวลาหลายร้อยปี  และพระองค์ทรงอัญเชิญกลับมา  เมื่อทรงทำศึกมีชัยเหนือเวียงจันทน์  เมื่อปีพุทธศักราช 2321  ในสมัยกรุงธนบุรี  ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นเสวยราชย์แล้ว  ทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรี มาสร้างใหม่  ณ กรุงเทพฯ  จึงมีการสร้างวัดพระแก้วขึ้นในพระบรมมหาราชวัง  เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตดังกล่าว
กองทัพพระลักษณ์สู้กับกองทัพยักษ์
          เมื่อแรกสร้างวัดพระแก้วนั้น  หาได้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ขึ้นพร้อมกันไม่ แต่ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์นี้ มาเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 คือสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  การที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ขึ้นนี้  ก็เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท   ซึ่งทั้งสองพระองค์ ทรงทำศึกต่อสู้กับการรุกรานของพม่าข้าศึก   เมื่อเริ่มสถาปนากรุงเทพฯ  ขึ้นเป็นราชธานีใหม่ ๆ   สงครามใหญ่ ๆ  ที่ทรงเอาชนะได้ด้วยพระปรีชาสามารถและความกล้าหาญ  เช่น  สงครามเก้าทัพที่ทุ่งลาดหญ้า  เป็นต้น  ทำให้ชาติไทยสามารถตั้งมั่นเป็นเอกราชสืบมา  จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 3 การศึกสงครามจึงหมดไป  เป็นยุคของการพัฒนาสร้างบ้านสร้างเมืองอย่างแท้จริง
          การเขียนภาพจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์เป็นเฉลิมพระเกียรติ  ก็เพราะว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์  โดยอาศัยเค้าโครงจากเรื่องเดิมคือ รามายณะ  อันเป็นวรรคดีเก่าแก่ของอินเดีย
          การเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในสมัยรัชกาลที่ 3 นี้  สำเร็จเรียบร้อยด้วยดี  เป็นที่ชื่นชมของชาวกรุงเทพฯ ยิ่งนัก  แต่ครั้นกาลเวลาล่วงเลยมาถึงสมัยรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ในวัดพระแก้วก็เริ่มชำรุด  ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ซ๋อมแซมขึ้นใหม่  โดยมี พระยาหัตถการบัญชา (กัน) จางวางมหาดเล็ก  เป็นผู้เขียนร่างภาพมาถวายให้ทอดพระเนตร   เมื่อทรงแก้ไขติชมแล้ว  จึงไปเขียนขยายภาพลงบนฝาผนังอีกทีหนึ่ง  การซ๋อมแซมภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์  ในคราวนี้  ปรากฏว่าไม่สำเร็จเรียบร้อยเลยทีเดียว
          ครั้นต่อมา  เมื่อจะมีงานสมโภชกรุงเทพมหานคร  อายุครบ 100 ปี  เมื่อปี พ.ศ. 2425  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณะปราสาทราชวัง  วัดวาอาราม ทั่วพระมหานคร  ครั้งนี้เอง ที่มีการซ่อมแซมภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์เป็นการใหญ่  โดยระดมช่างฝีมือดีทั้งฝ่ายสงฆ์และฆราวาส มาช่วยกันเขียนภาพ  อาทิ  พระอาจารย์แดง  วัดหงส์รัตนาราม  พระอาจารย์สอน  วัดสุวรรณาราม  เป็นต้น  การซ่อมแซมภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังรามเกียรติ์  ในครั้งนี้เสร็จเรียบร้อยเมื่อปลายปี พ.ศ. 2424
          ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ในวัดพระแก้วกรุงเทพฯ จึงสวยงามบริบูรณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง  ด้วยการซ๋อมใหญ่คราวนี้นี่เอง  แต่เนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศของบ้านเรานั้น มีความชื้นสูงขึ้นอีกทั้งมีฝนตกชุกตลอดฤดูฝนอันยานาน  ประกอบกับสมัยนั้นยังไม่มีหลักวิชาการในการทำลายความเค็มของปูนก่อนการเขียนภาพ  ไม่นานต่อมา ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ในวัดพระแก้วจึงเริ่มชำรุดอีก ต้องมีการเขียนซ่อมเล็ก ๆ  น้อย ๆ  อยู่เรื่อยมา  จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 7  จึงมีการซ่อมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง
จิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้ว ตอนหนุมานเนรมิตกายทอดข้ามทะเล
เพื่อให้กองทัพพระรามข้ามจากกรุงลงกา
          การซ๋อมภาพเขียนครั้งนั้น  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาเทวาภินิมิต (ฉาย) เป็นผู้อำนวยการซ่อม  เมื่อปีพุทธศักราช  2472  อันห่างจากการซ่อมในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึง 48 ปีเต็ม ๆ  การซ๋อมภาพเขียนรามเกียรติ์ครั้งนี้ ปรากฏว่า  พระยาเทวาภินิมิต ได้รวบรวมช่างเขียนฝีมือดีถึง 56 คน มาช่วยกันเขียนใหม่ตามแนวทางของภาพที่ซ่อมในสมัยรัชกาลที่ 5  ใช้เวลาอยู่นานับปี กว่าจะเสร็จสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง
          นับจากการซ่อมใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 7  นับมาจนถึงทุกวันนี้ก็เป็นเวลานานถึง 70 กว่าปีแล้ว  ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังในวัดพระแก้ว ก็ชำรุดเป็นอันมาก  มีการเขียนซ่อมเล็ก ๆ  น้อย ๆ  อยู่เสมอมา  แต่ก็ไม่ได้ผล  เพราะเมื่อเขียนเสร็จไม่นาน  ภาพนั้นก็ชำรุดอีก  เพราะสภาพดินฟ้าอากาศและผนังปูนแต่เดิมมีความเค็มนั่นเอง
          เพื่อเป็นการรักษาของดีชิ้นนี้มิให้สูญหายไป  กรมศิลปากรจึงได้ทำการซ่อมใหญ่อีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2514  โดยใช้วิธีการซ่อมตามหลักวิชาการสมัยใหม่ใช้เวลานานถึง 6 ปี จึงแล้วเสร็จ  จิตรกรรมรามเกียรติ์นี้จะคงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศไปอีกนานนับร้อยปี  โดยไม่ชำรุดเสียหายง่ายดังที่เคยเป็นมา
          ท่านที่ติดใจในความงามและเรื่องราวจิตรกรรมรามเกียรติ์  ภายในวัดพระแก้ว ก็ควรหาโอกาสไปชมกันเสียอีกครั้งหนึ่ง  จะได้พบว่าภาพจิตรกรรมรามเกียรติ์ที่ซ่อมใหม่นี้สวยสดงดงามน่าชมมาก  แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของจิตรกรรมฝาผนังแบบเก่าของไทยไว้อย่างเดิม...ฯ