>เรื่องเล่าพระนครคีรี


          เมื่อร้อยปีเศษมาแล้ว....
          ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้เสด็จประพาสเมืองเพชรบุรี อันเป็นเมืองเก่าแก่ที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาแต่กาลก่อน  นับแต่ครั้งขอมยังมีอำนาจอยู่ในดินแดนแถบนี้
พระนครคีรี (เขาวัง) ในสมัยรัชกาลที่ 4
          ในการเสด็จประพาสเมืองเพชรบุรีครั้งนั้น  พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นขุนเขาลูกหนึ่งอยู่ใกล้กับตัวเมืองเพชรบุรี  ซึ่งชาวเมืองเรียกกันว่า  เขาสมณะ  เพราะเชิงเขาแห่งขุนเขานี้มีวัดเก่าแก่โบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่หลายวัด  วัดหนึ่งในจำนวนนั้นมีชื่อว่า  วัดมหาสมณะ  อันมีสิ่งก่อสร้างเก่าแก่ศิลปะสมัยอยุธยาปรากฏอยู่
          พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพอพระราชหฤทัยในเขาสมณะลูกนี้เป็นอันมาก  เพราะทรงเห็นทำเลอันงดงาม  เหมาะสมที่จะสร้างพระราชวังที่ประทับขึ้น  ณ ยอดเขาแห่งนี้  เพื่อเป็นที่เสด็จแปรพระราชฐาน  ด้วยดินฟ้าอากาศที่เมืองเพชรบุรีนั้นดีมาก
          ดังนั้น  เมื่อเสด็จฯ  กลับจากเมืองเพชรบุรีไม่นาน  พระองค์จึงโปรดฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้น  ณ ยอดเขาสมณะ  เมืองเพชรบุรี  โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์  ที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กองในการก่อสร้างทั้งหมด  พร้อมกับโปรดฯ ให้จมื่นราชามาตย์ (ท้วม) ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาภานุวงษ์มหาโกษาธิบดี เป็นนายงาน
          การก่อสร้างพระราชวังบนยอดเขาสมณะนี้เป็นงานใหญ่ยิ่งในสมัยนั้นทีเดียว  เพราะพระราชวังที่สร้างขึ้นนั้นมีลักษณะสถาปัตยกรรมประยุกต์ระหว่างไทยและยุโรป  พระที่สั่งส่วนใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป  แต่มีพระมหาปราสาทตามประเพณีพระราชวังที่ประทับของพระมหากษัตริย์รวมอยู่ด้วย
          งานก่อสร้างพระราชวังบนยอดเขาสมณะได้เสร็จเรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ. 2403  คือเมื่อ 150 กว่าปีมาแล้ว  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้มีงานเฉลิมฉลองเป็นการใหญ่ในปีนั้น  พร้อมกับพระราชทานนามพระราชวังบนยอดเขาแห่งนี้ว่า พระนครคีรี
          นี่คือเขาวังเมืองเพชร  ตามที่เรียกกันเป็นสามัญในทุกวันนี้นั่นเอง  อันนับเป็นพระราชวังบนยอดเขาที่สวยงามยิ่ง  ควรค่าแก่การเป็นโบราณสถานที่จักต้องบูรณะตกแต่งให้มีสภาพดีสืบไป  เพื่อรักษาเรื่องราวอันสำคัญในประวัติศาสตร์ไว้  แต่น่าเสียดายที่ว่า  แม้พระราชวังบนยอดเขาแห่งนี้  จะได้ขึ้นบัญชีเป็นโบราณสถานของชาติมานานแล้วก็ตาม  แต่ก็มีงบประมาณในการบูรณะน้อยยิ่งนัก  จนกระทั่งพระนครคีรีชำรุดทรุดโทรมเหลือประมาณในทุกวันนี้
          ดังนั้น  เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มีการอนุรักษ์พระราชวังบนยอดเขาแห่งนี้ให้คงสภาพดีสืบไป  จึงขอนำเรื่องราวของพระนครคีรีมาเล่าสู่กันฟัง
          พระนครคีรี  มีพระที่นั่งสำคัญ ๆ  หลายองค์  ล้วนแต่ออกแบบและสร้างไว้อย่างประณีตด้วยฝีมือช่างหลวงในราชสำนักกรุงรัตนโกสินทร์  ทุกสิ่งทุกอย่างทำอย่างดีเยี่ยมหาข้อติมิได้เลย  ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบหรือการก่อสร้างก็ตาม  ดังจะได้พรรณนาต่อไป
          พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์
          คือพระที่นั่งองค์สำคัญของพระนครคีรี  ซึ่งเป็นพระที่นั่งองค์ใหญ่ที่สุด  พระที่นั่งองค์นี้สร้างแบบตึกฝรั่งแบ่งออกได้เป็น 4 ตอนด้วยกันคือ  ตอนหน้าเป็นห้องเสวย  ตอนที่สองเป็นที่เสด็จออกว่าราชการแผ่นดินในขณะที่เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับ  ณ พระนครคีรี  ตอนที่สามเป็นห้องแต่งพระองค์  และตอนที่สี่ซึ่งอยู่ในชุดเป็นห้องพระบรรทม
          ภายในพระที่นั่งองค์นี้  ตกแต่งด้วยข้าวของอันมีค่าและสวยงาม  ส่วนใหญ่เป็นของจากยุโรป  มีภาพเขียน  รูปปั้น  ของที่ระลึกต่าง ๆ  ที่กษัตริย์ต่างประเทศทูลเกล้าฯ ถวาย  มาตกแต่งไว้เป็นจำนวนมาก
          พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท
          นับเป็นพระมหาปราสาทสำคัญของพระนครคีรี  พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาทนี้สูง 14 เมตร หรือ 7 วา  สร้างขึ้นโดยพระราชดำริที่ว่า  พระราชวังที่ประทับของพระมหากษัตริย์นั้นจะต้องมีพระมหาปราสาทรวมอยู่ด้วย  เช่น  ในพระบรมมหาราชวัง หรือ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ที่เมืองลพบุรี เป็นต้น
          พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรนี้เป็นศิลปะแบบไทย  สร้างอยู่ท่ามกลางตึกฝรั่งของพระที่นั่งต่าง ๆ  แต่ทว่าแลดูไม่ขัดตาเลย  เพราะการออกแบบวางผังที่ดีของพระนครคีรีนั่นเอง  การสร้างพระมหาปราสาทองค์นี้ขึ้นในพระนครคีรีนั้น  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะหล่อพระบรมรูปของพระองค์เท่าขนาดจริงมาประดิษฐานไว้
          ตามเรื่องเล่ากันต่อมาว่า...
พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี
          พระองค์โปรดฯ ให้จ้างช่างชาวฝรั่งเศสซึ่งมีชื่อเสียงในการหล่อรูปเหมือนในสมัยนั้น  โดยทรงส่งพระบรมฉายาลักษณ์ไปให้ช่างที่ประเทศฝรั่งเศสดูแบบ  ต่อมาช่างปั้นได้ปั้นหุ่นพระบรมรูปจำลองด้วยปูนปลาสเตอร์ส่งมาถวายให้ทอดพระเนตร  เพื่อทรงติแก้เพื่อจะได้หล่อพระบรมรูปจริงต่อไป
          พระบรมรูปนั้นทรงแต่งพระองค์ด้วยเครื่องแบบปกติ  ทรงพระมาลาสก็อต  พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ  พระหัตถ์ซ้ายทรงหนังสือ  ประทับยืนบนพระแท่นเท่าขนาดพระองค์จริง  เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทอดพระเนตรหุ่นพระบรมรูปแล้วไม่ทรงพอพระราชหฤทัย ทรงติว่าปั้นหุ่นผิดจากความเป็นจริงมาก  จึงโปรดฯ ให้ช่างไทยในสมัยนั้นปั้นหุ่นใหม่  ซึ่งเข้าใจกันว่า  คงจะเป็นพระยาหัตถการบัญชา  จางวางช่างสิบหมู่ในสมัยนั้น  แต่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ทรงสันนิษฐานว่า  น่าจะเป็นหลวงเทพรจนาเป็นผู้ปั้นหุ่น
          เมื่อช่างไทยปั้นหุ่นให้ทอดพระเนตรใหม่  ก็ทรงพอพระทัย จึงโปรดฯ ให้หล่อพระบรมรูปนั้นขึ้น  แต่ทว่ายังไม่ทันเสร็จเรียบร้อยก็เสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2411 เสียก่อน  ครั้นเมื่อหล่อพระบรมรูปเสร็จแล้ว  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้นำไปประดิษฐาน  ณ พระบรมมหาราชวังตลอดรัชสมัย  ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 6  สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์  ซึ่งทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย  ได้ทูลของพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระบรมรูปนี้ไปประดิษฐาน  ณ พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาทที่พระนครคีรี  ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทางขึ้นพระนครคีรี
          พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  จึงประดิษฐานอยู่  ณ พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท  พระนครคีรีสืบมาจนทุกวันนี้
          พระที่นั่งปราโมทย์มไสวรรย์
          เป็นพระที่นั่งเก๋งสองชั้น  เป็นที่ประทับส่วนพระองค์และพระบรมราชินีอยู่ทางด้านหลังติดต่อกับพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์นั่นเอง  เดี๋ยวนี้พระที่นั่งปราโมทย์มไสวรรย์ชำรุดทรุดโทรม  เพราะขาดการบำรุงรักษามากทีเดียว  แต่พระแทนที่บรรทมและข้าวของเครื่องใช้อื่น ๆ  ยังมีเหลืออยู่บ้าง  น่าเสียดายที่ถูกปล่อยปละละเลยกันมาก
          พระที่นั่งราชธรรมสภา
          เป็นที่พระที่นั่งชั้นเดียวยาวตลอด  เป็นที่สำหรับประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ  ทางศาสนา  เมื่อเวลาเสด็จฯ มาประทับอยู่  ณ พระนครคีรี  มีห้องพระพุทธรูปเป็นที่สนทนาธรรมด้วย
          พระตำหนักสันถาคารสถาน
          เป็นพระตำหนักที่ใช้รับรองแขกเมือง  มีห้องพักอยู่ทั้งสองด้านของพระตำหนัก  ส่วนตรงกลางทำเป็นห้องโถงกว้าง  เป็นที่ประทับเวลาทอดพระเนตรการแสดงละคร  ซึ่งโรงโขนละครอยู่ทางด้านตะวันออกของพระตำหนักนี้
          หอพิมานเพชรมเหศวร
          เป็นเสมือนหนึ่งศาลพระภูมิ  เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป  และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำพระนครคีรี
          หอชัชวาลเวียงชัย
          สร้างอยู่สูงเด่นบนยอดสูงสุดของเขาสมณะ  นี้คือหอดูดาวนั่นเอง  เพราะทำเป็นโดม  มีกระจกโดยรอบ  เป็นที่เสด็จทอดพระเนตรดวงดาวต่าง ๆ  ในยามค่ำคืน  เพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงเป็นนักดาราศาสตร์ที่เชี่ยวชาญมาก  ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาที่หว้ากอ  เมืองประจวบคีรีขันธ์ได้อย่างแม่นยำ  เป็นที่ยกย่องสรรเสริญของนักดาราศาสตร์ทั่วโลกแล้วเพราะการเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอนี่เอง  ทำให้พระองค์ทรงไปติดเชื้อไข้ป่าหรือมาเลเรีย จนกระทั่งประชวรเสด็จสวรรคตเมื่อกลับกรุงเทพฯ แล้วในปี พ.ศ. 2411
          หอชัชวาลเวียงชัย หรือ หอดูดาว แห่งนี้ในสมัยก่อนยามค่ำคืนจะจุดตะเกียงโคมนำไปแขวนไว้ในยอดโดม  ซึ่งเป็นกระจกใส  สามารถมองเห็นได้จากชายทะเล  ซึ่งห่างจากพระราชวังบนยอดเขานี้ประมาณ 8 กิโลเมตร  แม้ชาวประมงบ้างแหลม หรือ หาดเจ้าสำราญ ก็มองเห็นเป็นที่หมายในการนำเรือเข้าฝั่ง
รถรางไฟฟ้าขึ้นพระนครคีรี
          นอกจากการสร้างพระราชวังบนยอดเขาสมณะแล้ว  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ยังโปรดฯ  ให้บูรณะ  พระธาตุจอมเพชร และ วัดพระแก้ว  ซึ่งอยู่บนเขาสมณะด้วยแต่คนละยอด  ซึ่งล่วงมาถึงปัจจุบันนี้ทั้งพระธาตุจอมเพชรและวัดพระแก้วก็ชำรุดทรุดโทรมมากเช่นกัน
          ในบริเวณโดยรอบพระนครคีรีบนยอดเขาสมณะ ยังมีสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ  อีกมากอันเป็นส่วนประกอบของพระราชวังตามแบบโบราณราชประเพณี  อาทิ  ศาลาลูกขุน  ศาลาเย็นใจ  ทิมดา  โรงครัว  ศาลาด่าน  โรงทหารมหาดเล็ก  โรงม้า  โรงรถ  ศาลาทัศนานักขัตฤกษ์  ซึ่งอยู่ตรงเชิงเขา  สำหรับประทับทอดพระเนตรขบวนพิธีต่าง ๆ  เช่น  ยามเทศกาลสงกรานต์ของชาวเมืองเพชร  เป็นต้น
          พระนครคีรี หรือ เขาวังเมืองเพชร แห่งนี้  กรมศิลปากรซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่  ได้มีการซ๋อมแซมครั้งหนึ่ง  เมื่อปี พ.ศ.  2497  ด้วยงบประมาณจำนวน  4  ล้านบาท  ซึ่งก็ไม่สามารถซ่อมได้หมดทั้งพระราชวัง  คงซ๋อมเฉพาะพระที่นั่งองค์สำคัญ ๆ  เท่านั้น  ซึ่งล่วงมาถึงบัดนี้เป็นเวลานานถึง  57  ปีแล้ว  พระที่นั่งต่าง ๆ  ก็ชำรุดทรุดโทรมงอย่างน่าห่วงใยยิ่ง  สมควรที่จะมีการบูรณะครั้งใหญ่ได้แล้ว แม้ว่าจะต้องใช้งบประมาณเป็นสิบ ๆ  ล้านบาทก็ควรกระทำ  เพื่อรักษาพระนครคีรี พระราชวังบนยอดเขาแห่งนี้ให้คงอยู่คู่เมืองเพชรบุรีต่อไป