>เรื่องเล่าท้องสนามหลวง

ภาพสนามหลวงในอดีต
           ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 4  สิ่งใหม่ ๆ  เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งเป็นความเจริญที่หลั่งไหลเข้ามา  เช่น  มีพวกฝรั่งเข้ามารับราชการมากขึ้น  พระองค์โปรดฯ ให้สร้างบ้านพักอยู่บริเวณท่าเตียน  พร้อมกันนั้นยังโปรดให้สร้างสถานที่ต่าง ๆ  ขึ้นรอบนอกพระบรมมหาราชวัง
          หนึ่งในจำนวนนั้นก็มีสนามหลวงที่เรารู้จักกันมาทุกวันนี้รวมอยู่ด้วย  สมัยนั้นคงจะไม่มีพวก ผีขนุน เข้าไปเดินเพ่นพ่าน ทำให้สถานที่เสื่อมเสียอย่างทุกวันนี้เป็นแน่
          เดิมทีนั้น เรียกกันว่า “ทุ่งนาวัดมหาธาตุ”  ในรัชกาลที่ 3  มีการทำนาที่นี่เป็นทางการ หรือในสมัยนั้นเรียกว่า “เป็นการหลวง” ประสงค์จะให้ปรากฏไปถึงนานาอารยประเทศ โดยเฉพาะญวน  ซึ่งมักมีเหตุบาดหมางกันเรื่อย ๆ  เพื่อให้รู้ว่าเมืองไทยบริบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร  มีไร่นา  แม้กระทั่งใกล้ ๆ  พระราชวัง  เนื่องจากไทยเอาใจใส่ในการสะสมเสบียงอาหารไว้เพื่อไม่ประมาท  จนกระทั่งมาถึงรัชกาลที่ 4  จึงเลิกทำนา
          ก่อนจะกลายเป็น “สนามหลวง”  นอกจากเรียก “ทุ่งนาวัดมหาธาตุ” แล้ว ยังมีชื่อเรียกว่า “ทุ่งพระเมรุ” อีกชื่อหนึ่ง  เพราะสถานที่แห่งนี้ใช้เป็นที่พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ โปรดฯ ให้สร้างบริเวณสำหรับการพระราชพิธีพืชมงคล และพิธีพิรุณศาสตร์ มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ข้างในสร้างหอพระเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำหรับการพิธี มีพระพุทธคันธาราฐ  เป็นต้นหลังหนึ่ง  มีพลับพลาหลังหนึ่ง  ข้างพลับพลาน้อย สร้างบนกำแพงแก้วสำหรับประทับทอดพระเนตรในเวลามีพระราชพิธีพืชมงคลหลังหนึ่ง  และสร้างฉางไว้ข้าวนาหลวงในบริเวณนั้นด้วยอีกหลังหนึ่ง  โปรดฯ ให้เรียกว่า “ท้องสนามหลวง”  จึงพากันเรียกว่า “ท้องสนามหลวง”  มาจนบัดนี้  แต่สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ  นั้นทรุดโทรม  ถึงรัชกาลที่ 5  จึงโปรดฯ ให้รื้อเสีย
สนามหลวงเป็นสถานที่สร้างพระเมรุ
พระบรมศพพระราชวงศานุวงศ์
จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งงว่า "ทุ่งพระเมรุ"
          หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ท้องสนามหลวงเป็นที่แข่งว่าว  สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม  เดินทางไปต่างประเทศ พบว่าประเทศที่เจริญแล้ว เช่น ในประเทศอังกฤษ มีประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ เมื่อเดินทางกลับมาเกิดร้อนวิชาอยากให้เมืองไทยมีประชาธิปไตยอย่างนั้นบ้าง  เลยนำเอารูปแบบ “ไฮปาร์ค” มาจัดขึ้นที่สนามหลวงเป็นครั้งแรก  พวกแก่วิชา รวมไปถึง “ขาประจำ” วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสมัยนั้น ได้โอกาสมาพูดถล่มรัฐบาลจนพัง
          ในวันที่เกิดเหตุสำคัญในประวัติศาสตร์วันนั้น  รัฐบาลกำลังประสบปัญหาหลายอย่าง เช่น คอร์รัปชั่น  โกงกินบ้านเมือง  เอาพวกพ้องญาติพี่น้องเข้ามากอบโกย  เศรษฐกิจย่ำแย่  มีนักไฮปาร์คปากกล้าคนหนึ่ง  บอกว่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะพากันเดินขบวนบุกทำเนียบประมาณสองร้อยคนตอนบ่ายสองโมง  พอตกบ่ายโมง  นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ตั้งขบวนเดินไปบุกทำเนียบตามที่นักไฮปาร์คคนนั้นพูดไว้
          นักศึกษากว่าสองร้อยคนมาหยุดอยู่ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์  เพราะจอมพล สฤษดิ์  ธนรัชต์ กับ พลโท  ประพาส  จารุเสถียร  (ยศขณะนั้น) ใช้ไม้กีดขวางไว้ ไม่สามารถจะเคลื่อนไหวได้  เลยต้องมีการเจรจากัน  ในที่สุด จอมพล สฤษดิ์ฯ ก็สั่งให้ พลโท ประพาสฯ  เปิดทาง  ขบวนนักศึกษาจึงพากันเดินเลาะไปริมคลองผดุงกรุงเกษม ไปเลี้ยวซ้ายเข้าประตูหลังทำเนียบซึ่งปิดอยู่  พวกนักศึกษาก็เฮโลเข้าพังประตูเข้าไป ปรากฏว่าช่างภาพคนหนึ่งของหนังสือพิมพ์ “สารเสรี”  ชื่อ  สมนึก  วงศ์กระจ่าง  เบียดเข้าไปพ้อมกับกล้องเลยพังอยู่ในสภาพที่ใช้การไม่ได้แล้ว  เข้าไปถึงบันไดทำเนียบ ปรากฏว่า จอมพล สฤษดิ์  ธนรัชต์ กับ พลโท ประพาสฯ มายืนต้อนรับพวกนักศึกษาอยู่ที่นี่ เข้าใจว่าคงจะเข้าทำเนียบด้านประตูตรงข้ามกระทรวงศึกษาธิการ ผู้คนที่ตามขบวนนักศึกษามีจำนวนไม่มากนัก  เมื่อรวมเข้ากับนักศึกษาก็มากพอสมควรสำหรบสมัยนั้น  จอมพล ป.  มีสีหน้าตกใจ พยายามขอร้องให้ทุกคนหยุด  แต่กำลังร้อนกันทุกคน  จึงไม่มีใครเชื่อฟัง  ต่างพากันเฮบุกเข้าไป
          จอมพล ป. คงไม่คิดมาก่อนว่าจะมาเจอเหตุการณ์เช่นนี้  เลยถอยกรูด ๆ  ไปติดบันไดทำเนียบ จอมพล สฤษดิ์ฯ ต้องเข้าขวางไว้พร้อมกับส่งเสียบขอร้องว่า “พี่น้องหยุดก่อน ใจเย็น ๆ  โปรดนั่งลงทุกคน”  ดูเหมือนจะกลายเป็นมนต์สะกดให้แต่ละคนชะงัก  จังงัง  แล้วพากันปฏิบัติตามอย่างว่าง่าย  พากันนั่งพรึ่บลงอย่างพร้อมเพรียงกัน  นาทีนั้นเองกลายเป็นผู้ปฏิวัติไป  เพราะจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องมายืนอยู่ข้างหลัง จอมพล สฤษดิ์
          มารู้กันทีหลังว่ามีการวางแผนไว้อย่างดี  จอมพล  สฤษดิ์ฯ เตรียมกำลังไว้  ฝ่าย พล.ต.อ.  เผ่า  ศรียานนท์  ก็สะสมกำลังตำรวจไว้  สั่งซื้อรถถังเข้ามาใช้  จนสื่อมวลชนพากนตั้งให้เป็น “รัฐตำรวจ”  แต่พลตำรวจเอกเผ่าฯ  คิดช้า  ทำช้า  เป็น “เสือปืนฝืด”  สู้ “เสือปืนไว”  คิดเร็ว  ทำเร็ว อย่างจอมพลสฤษดิ์ไม่ได้  ที่ประกาศตัวลงมือก่อน
ครั้งหนึ่งสนามหลวงเคยเป็นตลาดนัด ก่อนย้ายไปสวนจตุจักร
          หลังจากนักศึกษาบุกทำเนียบ ทันทีกำลังทหารหน่วยต่าง ๆ  ก็เข้ายึดสถานที่สำคัญ ๆ  เอาไว้หมด นั่นคือ การปฏิวัติสมัย จอมพล  สฤษดิ์  ธนรัชต์
          ท้องสนามหลวงยังใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ  เรียกว่าเป็นสนามอเนกประสงค์ทีเดียว  สมัยก่อนเป็นสถานที่หาเสียงเลือกตั้ง  และยังใช้เป็นตลาดนัดมายุคหนึ่ง  มีทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ ก่อนจะย้ายไปอยู่ที่สวนจตุจักร  ปัจจุบันได้ถูกซ่อมแซมและทำรั้วกันปิด  มิให้มีการไปมั่วสุม หรือมีผีขนุนไปใช้บริการแล้ว  นับว่าท้องสนามหลวงได้ใช้ประโยชน์มายาวนานและจะใช้ไปอีกจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง